“คณิศ” เผย 4 ปีอีอีซี ประสบความสำเร็จที่สามารถเข้าไปอยู่บนโรดแม็ปของนักลงทุนทั่วโลกได้ เกิดการลงทุน 1.9 ล้านล้านบาทเกินเป้า วาง 5 ปีต่อไปที่ตั้งเป้าลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทไม่ยากแล้ว เพราะเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ครบ มุ่งการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบออโตเมชัน สุขภาพการแพทย์ การบิน โลจิสติกส์ 5G และบีซีจี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) เปิดเผยในงานสัมมนา “4 ปี อีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติ อย่างยั่งยืน” ว่า การดำเนินงานของอีอีซีภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ครบ 4 ปีในเดือน พ.ค.นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะได้เข้าไปอยู่บนโรดแม็ปของนักลงทุนทั่วโลก จากที่ตั้งเป้าการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี แต่ทำได้ 1.9 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี ทำให้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดินต่อไปได้
“พอขึ้นปีที่ 5 เข้าสู่ระยะที่ 2 ตั้งใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ 2.2 ล้านล้านบาท มองว่าจะเดินหน้าไปได้ดีและไม่ค่อยยากเหมือนการทำงานในระยะแรก เพราะได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้หลายๆอย่าง เพราะได้เตรียมตัวไว้หลายอย่าง มีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้มีจุดสนใจสำหรับการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยี ขณะที่มีศูนย์จีโนมิกซ์ เกิดขึ้นแล้ว เพื่อรองรับการลงทุนด้านรักษาพยาบาลและยา รวมทั้งมีการวางโครงข่ายเทคโนโลยี 5G เข้ามาแล้ว 100% โดยมุ่งเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบออโตเมชัน สุขภาพการแพทย์ การบิน โลจิสติกส์ 5G เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี)
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. กล่าวว่า อีอีซี ได้ผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ 4 โครงการหลัก เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง 36% แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เปิดให้บริการได้ในปี 2569 สนามบินอู่ตะเภา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง จะเปิดให้บริการในปี 2569 ระยะเวลาสอดรับกับท่าเรือเดิมที่เต็มศักยภาพ ซึ่งหากไม่มีท่าเรือใหม่จะมีปัญหาการส่งออกสินค้าทันที
นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านต่างประเทศ สกพอ. กล่าวว่า ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา อีอีซีต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เปิดรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี แต่เนื่องจากจุดที่ตั้งของไทยได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า จึงได้เปรียบต่อการดึงดูดการลงทุนในจังหวะที่นักลงทุนจากสหรัฐฯและยุโรปต้องการกระจายการลงทุนออกจากจีน ทำให้ไทยสามารถพลิกการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมใหม่ได้ ขณะที่การผลักดันเข้าไปอยู่ในภาพการลงทุนระดับโลก จะต้องวางตำแหน่งอีอีซีเป็นฐานการผลิตของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใหม่ และการดูแลนักลงทุนไม่ใช่เพียงลดภาษี แต่ต้องให้บริการเมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วด้วย
นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สกพอ. กล่าวว่า จะนำเทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดพัฒนาในภาคการผลิตในอีอีซีสู่อุตสาหกรรม 4.0 คาดว่าในภาพรวมทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้ประโยชน์เพิ่ม 5 เท่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อเสาสายของระบบ 5G วงเงิน 200,000 ล้านบาท โดยจะเร่งผลักดันให้โรงงานในอีอีซีใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่า 30% โดยปัจจุบันได้เริ่มทำแล้วกว่า 40 โรงงาน และจะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% เอสเอ็มอี 50% ภายในปีนี้และภายในปี 2568 จะทำให้ได้อีกกว่า 6,000 โรงงาน และจะร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น พัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซีให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ภายใน 4 ปี.