ขึ้นแล้ว! ปุ๋ยยูเรียขาย 1,800 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขึ้นแล้ว! ปุ๋ยยูเรียขาย 1,800 บาท

Date Time: 23 พ.ค. 2565 05:33 น.

Summary

  • กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมี ทยอยปรับขึ้นราคาขายหน้าโรงงานตามต้นทุนแม่ปุ๋ย และค่าขนส่ง ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากได้ขอความร่วมมือตรึงราคาขายมาโดยตลอด

Latest

จีนเร่งกระจายฐานการผลิต "ผู้ผลิตแบตเตอรี่ - อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง" ตบเท้าลงทุนไทย พุ่ง!

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกลุ่มผู้ค้าและผู้ผลิตปุ๋ยไทยว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมี ทยอยปรับขึ้นราคาขายหน้าโรงงานตามต้นทุนแม่ปุ๋ย และค่าขนส่ง ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากได้ขอความร่วมมือตรึงราคาขายมาโดยตลอด ซึ่งจะทำให้ราคาขายปุ๋ยเคมีในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ที่กำลังมาถึงนี้มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% จากต้นปี เช่น ราคาหน้าโรงงานปุ๋ยยูเรียจะขึ้นมาเป็นกระสอบ (50 กิโลกรัม) ที่ 1,500 บาท ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่กระสอบละ 1,700-1,800 บาท อย่างไรก็ตาม หากราคาแม่ปุ๋ยที่นำเข้าจากต่างประเทศถูกลง ราคาขายในประเทศต้องปรับลดลงทันที

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตและผู้ค้าบวกกำไรน้อยลงด้วย เช่น หากราคาหน้าโรงงานปรับเพิ่มขึ้น 50% ราคาปลายถึงมือเกษตรกรอาจปรับขึ้นเพียง 25% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ซึ่งแม้อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้ายังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่ขาดทุนจนเลิกผลิต

สำหรับแนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีขณะนี้ บางชนิดเริ่มลดลง เช่น ปุ๋ยยูเรีย แต่บางชนิดปรับขึ้น ดังนั้น ราคาปุ๋ยในตลาดช่วงนี้ยังมีความผันผวนอยู่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนพยายามบริหารปริมาณให้มีเพียงพอ ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน โดยได้เสาะหาแหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยใหม่ๆเข้ามาทดแทนบางตลาดที่ขาดหายไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกขณะนี้ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามราคาวัตถุดิบและอุปทานปุ๋ยในตลาดโลก ที่ตึงตัวจากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ประกอบกับภาครัฐอนุญาตให้ปรับเพิ่มราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาปุ๋ยนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก คาดว่าราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าในปี 65 จะสูงถึงตันละ 950-1,000 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 64 กว่าเท่าตัว โดยชาวสวนปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่สูง ตามมาด้วยยางพาราและอ้อย ส่วนข้าว คาดว่าอาจทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงได้ ถ้าชาวนาไม่มีทุนมาซื้อปุ๋ย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ