เอไอเอส–ทรู–ดีแทคประลองกำลังยกแรก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอไอเอส–ทรู–ดีแทคประลองกำลังยกแรก

Date Time: 17 พ.ค. 2565 05:35 น.

Summary

  • การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ครั้งที่ 1 สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ตามดำริของคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เสร็จสิ้นไปเรียบร้อย

ผลปรากฏมากกว่า 90% เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ เพราะเมื่อมองผลระยะยาวเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ 2 รายดังกล่าวเข้มแข็งขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เริ่มต้นจาก เจษฎา ศิวรักษ์ จากอีริคสัน บอกว่า การพิจารณาความสามารถในการแข่งขันควรดูที่กำไรด้วย รายใหญ่บริหารต้นทุนได้ดีกว่าไหม ธุรกิจโทรคมนาคมมีต้นทุนสูง ทั้งการลงทุนด้านโครงข่าย ค่าประมูลคลื่น หากผู้ให้บริการไม่เข้มแข็ง ก็จะเกิดกรณี Die Fast หรือไม่ก็ Die Slow (ไม่ช้าก็เร็วต้องตาย) ประเทศจะสูญเสียโอกาส

สอดคล้องกับความเห็นของ ดิษศรัย ปิณฑะดิษ แห่งสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยที่ว่า การควบรวมกันจะทำให้ทรูและดีแทคแข็งแกร่งขึ้น สามารถนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ดีขึ้นได้ สนับสนุนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสตาร์ตอัพ “นอกจากนั้นที่ผ่านมา ราคาค่าบริการยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่เกิดจากโปรโมชันและการแข่งขันรุนแรงที่ไม่ส่งผลดีในระยะยาว เพราะมีแต่จะทำให้อ่อนแอลง”

ขณะที่ ปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมการค้าดิจิทัล เห็นว่า นโยบายรัฐเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตปีละ 30% จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโอเปอเรเตอร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง “การแข่งขันที่มากเกินไป ทำให้ธุรกิจและประเทศเสียโอกาส ยกตัวอย่างกรณีดีแทคประกาศยกเลิกโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพอย่าง Dtac Accelerate ตรงนี้กระทบธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงไม่อยากให้มองแค่ราคาค่าบริการเพียงมุมเดียว อยากให้มองไกลไปถึงประโยชน์ในภาพรวมและระยะยาวมากกว่า”

เช่นเดียวกับ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย เห็นว่า ธุรกิจที่มีผู้นำทิ้งห่างผู้แข่งขันรายอื่นมากๆ ในที่สุดจะไม่มีการแข่งขัน ผู้เล่นเบอร์รองไม่อยากลงทุนเพราะสู้ไม่ได้ สะท้อนภาพในไทยที่ผู้เล่นรองลงทุนแบบรักษาฐานลูกค้าเป็นหลัก หวังกำไรระยะสั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว สิ่งที่ กสทช.ควรทำคือการดูแลเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพนักงาน ลูกค้า และธุรกิจเกี่ยวข้องในทางลบให้น้อยที่สุดมากกว่า

ขณะที่ พรสุข ม้วนหรีด จากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มองว่า OECD เคยศึกษาไว้ว่า การควบรวมกิจการทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ ส่วนเรื่องราคาค่าบริการนั้น เชื่อว่า กสทช.จะสามารถควบคุมได้

ท่ามกลางความเห็นเชิงสนับสนุนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ดูเหมือนจะเป็นตัวหลักที่ยืนยันความเห็นว่า การควบรวมทำให้เกิดการผูกขาด ส่งผลต่อค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และกสทช.มีอำนาจที่จะจัดการเรื่องนี้ โดย ศรันย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บอกว่า ไม่เคยกลัวการแข่งขัน แต่การปล่อยให้ผู้เล่นลดลงจาก 3 เหลือ 2 เป็นการลดทางเลือกในการใช้บริการ โปรโมชัน บริการหลังการขาย คุณภาพสัญญาณ

“การควบรวมเหลือผู้เล่น 2 รายหลักที่มีฐานลูกค้าใกล้กันที่ 50 ล้านราย จะเป็นการสิ้นสุดสงครามราคาแน่นอน แม้ในมุมมองตลาดทุนจะวิเคราะห์ว่าเอไอเอสได้ประโยชน์ แต่ในฐานะบริษัทที่ดี เอไอเอสไม่สามารถเพิกเฉยกับสิ่งนี้ได้ และไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการผูกขาดขึ้น”

ขณะที่ กุลฤดี จาดป้อม แห่งเอไอเอส เสริมว่า จากการศึกษาขององค์กรกำกับดูแลในยุโรป 11 แห่ง พบมากกว่า 50% ของการควบรวม ทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้น และใน 193 ประเทศทั่วโลกมีผู้ให้บริการ 3 รายขึ้นไป ส่วนประเทศที่มีผู้ให้บริการ 2 รายเป็นประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน โดยเมื่อศึกษาเปรียบเทียบประเทศที่มีขนาดเท่าประเทศไทย ล้วนแต่มีผู้ให้บริการ 3-4 รายในตลาด

ทิศทางของ Focus Group ครั้งแรก หากประเมินแบบรู้เขารู้เรา ทางฝั่งทรูและดีแทคมีความได้เปรียบ จากการทำงานใกล้ชิดกับบรรดาสมาคมที่เป็นสมาชิกสภาดิจิทัลฯ ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาดิจิทัลฯของ 2 ผู้บริหารใหญ่ของกลุ่มทรู ทั้ง ศุภชัย เจียรวนนท์ และ วิเชาน์ รักษ์พงษ์ไพโรจน์

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องอื่น เช่น หัวเว่ย ในฐานะผู้ขายโครงข่าย ให้ความเห็นแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เพราะไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ทรู หรือดีแทค ทุกรายคือลูกค้า ขณะที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ซึ่งเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นทั้งกับเอไอเอส ทรู เลือกแสดงความเห็นอย่างเป็นทางการผ่านการส่งเอกสารแทน เสนอตัวเองเป็นทางเลือกที่เหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม เวที Focus Group เพิ่งผ่านไปครั้งแรก ยังมีครั้งต่อๆไปภายใต้นโยบายบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งแบบเกร็งตัวโก่ง ลำดับต่อไปคือกลุ่มนักวิชาการและตามมาด้วยกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าจะดุเด็ดเผ็ดมันเป็นแน่.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ