หวั่นเงินออมหมดก่อนแก่ ดาหน้าต้าน ครม.แก้กฎหมายเงินชราภาพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หวั่นเงินออมหมดก่อนแก่ ดาหน้าต้าน ครม.แก้กฎหมายเงินชราภาพ

Date Time: 12 พ.ค. 2565 05:30 น.

Summary

  • รุมค้านแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ให้นำเงินสะสมกรณีชราภาพออกมาใช้ ชี้ผิดหลักการประกันสังคม เสี่ยงเงินออมตอนสูงอายุลดลง และส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นๆในอนาคต

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ทีดีอาร์ไอ สภาพัฒน์ กฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รุมค้านแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ให้นำเงินสะสมกรณีชราภาพออกมาใช้ ชี้ผิดหลักการประกันสังคม เสี่ยงเงินออมตอนสูงอายุลดลง และส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นๆในอนาคต ทั้งเร่งให้เงินกองทุนหมดเร็วขึ้น กระทบให้รัฐบาลต้องนำเงินมาสนับสนุน และผู้ประกันตนอาจต้องส่งเงินสมทบสูงขึ้น

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่... (พ.ศ.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนที่จะมีอายุ 55 ปี หรือนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ว่า หากเอาเงินออมเพื่อเกษียณอายุมาใช้ก่อน ในระยะสั้นอาจมีประโยชน์เพราะว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง แต่มีความเสี่ยงคือ ท้ายที่สุดเงินออมตอนสูงอายุก็จะหายไป หรืออาจนำเงินชราภาพมาใช้ค้ำประกันแล้วถูกยึดไป ขณะที่ผลทางอ้อม จะทำให้คนปรับตัวน้อยลง ไม่ลดรายจ่ายฟุ้งเฟ้อจากการเล่นพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และถ้าเกิดเจอวิกฤติในอนาคตอีกก็ไม่มีเงินออมมาช่วยแล้ว จึงไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะเอาเงิน
ก้อนนี้มาใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้ ครม.จะเห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่เนื่องจากเป็นการแก้ไขกฎหมายจึงต้องส่งร่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ขณะเดียวกันมีข้อสังเกตของหน่วยราชการที่ส่งความเห็นเข้าที่ประชุม ครม.ที่แสดงความเป็นห่วงกรณีนี้

โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่แก้ไขระบบบำนาญชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับหลักการประกันสังคม ที่มุ่งลดความเสี่ยงในกรณีที่ผู้ประกันตนจะมีชีวิตยืนยาว กว่าเงินที่เก็บออมไว้ เงินกองทุนชราภาพนั้นเป็นเงินกองกลาง ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) บริหารจัดการไว้ทยอยจ่ายให้กับผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุเป็นรายเดือน ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต การดึงเงินจากกองทุนชราภาพ นอกจาก ทำให้หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตนที่เลือกใช้สิทธิลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นๆในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เงินกองทุนหมดเร็วขึ้น ส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องนำเงินมาสนับสนุนกรณีกองทุนไม่เพียงพอ

เช่นเดียวกับสำนักงาน ก.พ.เห็นว่า ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากรายได้หลังเกษียณของผู้ประกันตนลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคต และมีความเสี่ยงที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐในท้ายที่สุด

ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความเห็นว่า ควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันชราภาพในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงของรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เนื่องจากการเปิดทางเลือกให้สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน อาจส่งผลให้ผู้ประกันตนขาดความมั่นคงทางรายได้ยามชรา กระทบต่อภาระการคลังของรัฐบาลในระยะยาว และควรมีการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบายอื่น เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ นำไปลงทุนทำงานอื่นๆในช่วงที่ประสบเหตุวิกฤติ โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกันมีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณลดลง สมควรต้องมีมาตรการรองรับในระยะยาวไว้ให้ชัดเจน และควรมีแนวทางในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบประกันสังคมที่ชัดเจนด้วย ขณะที่สำนักงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตว่า ควรกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้ดำเนินการในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงวิกฤติ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ