นัดถกมาตรการเสนอรัฐ เอกชนห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจรอบด้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นัดถกมาตรการเสนอรัฐ เอกชนห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจรอบด้าน

Date Time: 9 พ.ค. 2565 05:08 น.

Summary

  • กกร.นัดถก 11 พ.ค.นี้ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบมั่นใจส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแต่ยังคงกังวลปัจจัยเสี่ยงต้นทุนการผลิตพุ่งรอบด้านทั้งพลังงาน ราคาสินค้า หวั่นเงินเฟ้อสูง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

กกร.นัดถก 11 พ.ค.นี้ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบมั่นใจส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแต่ยังคงกังวลปัจจัยเสี่ยงต้นทุนการผลิตพุ่งรอบด้านทั้งพลังงาน ราคาสินค้า หวั่นเงินเฟ้อสูงกดดันค่าครองชีพประชาชนเพิ่มฉุดแรงซื้อตกต่ำ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะมีการหารือภาพรวมเศรษฐกิจการส่งออก อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยอมรับว่าขณะนี้เอกชนมีความกังวลต่อปัจจัยลบหลายด้าน ที่มีแนวโน้มจะกดดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งจะสะท้อนไปยังราคาสินค้าปรับขึ้นต่อเนื่องอันจะมีผลให้เงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นอีก ซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของคนไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะรับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยว เต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม

“เงินเฟ้อเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.65% ซึ่งมาจากค่าพลังงานและราคาอาหาร ที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงทรงตัวระดับสูงเนื่องจากมีข่าวสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมแบนน้ำมันรัสเซีย และหากประเมินการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนหลายฝ่ายต่างก็คาดว่าจะยืดเยื้อถึงปลายปีนี้หรือปีหน้า จึงทำให้มาตรการแซงก์ชันต่างๆยังคงอยู่ต่อไปและอาจมีเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องติดตามใกล้ชิด เราจึงกังวลว่าภาวะเช่นนี้จะยิ่งทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นซึ่งทำให้กำลังซื้อลดลง”

สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันของไทย มีทิศทางปรับขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลขยับเพดานมาอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 1 พ.ค. และกำหนดไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ซึ่งเพดานดังกล่าวทำให้ราคาจะปรับขึ้นอีกและยังไม่รวมกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ที่จะสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้ จะหมดลงหากไม่ต่อจะทำให้ดีเซลขยับขึ้นอีก 3 บาท/ลิตร

ดังนั้น จึงเห็นว่ารัฐควรจะขยายมาตรการดังกล่าวไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ขณะเดียวกันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ได้ปรับขึ้นเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน ต้องจ่ายถึง 4 บาท/หน่วย เหล่านี้ ล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าพลังงาน

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ปรับขึ้นจากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน ทั้งปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ เหล็ก แร่หายาก ชิปเซมิคอนดักเตอร์ พลาสติก และอื่นๆ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างมีต้นทุนที่ปรับตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าและมีแนวโน้มจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องหากสถานการณ์เหล่านี้ยังคงไม่ทุเลาลง

“ส.อ.ท.ได้ขอร้องให้สมาชิกพิจารณาตรึงราคาสินค้าให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน เนื่องจากหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวค่อยๆดีขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัว โดยหลายฝ่ายประเมินว่าจะมีเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามาจากมาตรการนี้ 600,000 ล้านบาท”

และต้องติดตามการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังมีการเรียกร้องจากสหภาพแรงงานต่างๆ เนื่อง จากอัตราค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย โดยหากขยับขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการดำเนินงานของภาคการผลิตและธุรกิจต่างๆอีกในอนาคต ดังนั้น มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมุ่งเน้นบริหารงบประมาณและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อให้มากขึ้นในระยะสั้น รวมไปถึงการวางมาตรการระยะกลางและยาวที่ต้องมุ่งเน้นการสร้างงานทั้งการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาด้านการเกษตร และอื่นๆ ในท้องถิ่นที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนแบบยั่งยืน

“มาตรการด้านการเงินในการกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น คนละครึ่ง เหล่านี้ระยะสั้นจำเป็นต้องมีแต่ระยะกลางและยาว เราต้องมองความยั่งยืนด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ