นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาและหารือร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่มีสมาชิก 139 ประเทศทั่วโลก เพื่อเจรจามาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ 1.มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้ โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ ซึ่งการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากแพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศไทย จะสามารถนำไปคำนวณเป็นฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติได้ ซึ่งจะเป็นฐานรายได้ใหม่ของประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น โออีซีดีกำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจที่มียอดขายเกิน 20,000 ล้านยูโร หากมีกำไรเกิน 10% ของยอดขาย ต้องแบ่งสันปันส่วนกำไร โดย 10% แรกเป็นกำไรของบริษัท ส่วนที่เกิน 10% นั้น นำมาจัดสรรจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กลุ่มโออีซีดีในอัตรา 25% ซึ่งขณะนี้ยังไม่บรรลุข้อตกลง เนื่องจากหลายประเทศมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน 2.มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีโดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15%
“การเจรจาหารือกันในกลุ่มสมาชิกโออีซีดี เป็นการต่อยอดการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษีทุกราย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของไทยที่ต้องการขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้ไทยมีแหล่งรายได้ใหม่จากบริษัทข้ามชาติที่เคยหลบเลี่ยงภาษี กลับมาจ่ายภาษีให้กับประเทศ หากเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 และมีผลบังคับใช้ในปี 2567 และขณะนี้มีการเจรจาขอเลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 2568”.