ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจระหว่างวันที่ 1-26 เม.ย. ถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย โดยเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ส่วนภาคการค้าและการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ เป็นผลสืบเนื่องจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังซื้อที่อ่อนแอ และการแพร่ระบาดในประเทศ ที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม
ขณะที่ในภาคการผลิตผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 44% ระบุว่า ปัญหาการขนส่งที่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ทั้งเที่ยวบินและการเดินเรือกลับเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกของภาคการผลิตในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์บางพื้นที่ในจีนชั่วคราว ขณะที่ 40.5% มองว่ากำลังซื้อที่อ่อนแอเป็นปัญหาสำคัญ ขณะที่มีผู้ประกอบการในภาคการผลิตมองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นปัญหาสำคัญ 32.1% ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคที่ไม่ใช่การผลิต มองว่า ปัญหาหลักในขณะนี้คือ กำลังซื้อที่อ่อนแอสูงถึง 60.4% ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ 31.4% และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 23.9%
ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ธุรกิจครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้า และอาจแบกรับต้นทุนได้ไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งอาจใช้กลยุทธ์อื่นๆ ช่วยประคองธุรกิจแทนการปรับขึ้นราคา เช่น การลดต้นทุน ลดการให้หรือจัดโปรโมชันลง และผู้ประกอบการ 41% ของกลุ่มที่ต้นทุนที่สูงขึ้น ประเมินว่า จะทนแบกรับต้นทุนการผลิตเพิ่มอีกเพียงไม่เกิน 10% ของต้นทุนปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นต้องปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะธุรกิจการค้า ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 30% มองว่าแบกรับต้นทุนได้อีกไม่เกิน 20% ก่อนขึ้นราคา.