“สนค.” ระส่ำวิกฤติเงินเฟ้อปีนี้ เข็นมหกรรมธงฟ้า รถพุ่มพวงฝ่าพิษดีเซลขยับ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สนค.” ระส่ำวิกฤติเงินเฟ้อปีนี้ เข็นมหกรรมธงฟ้า รถพุ่มพวงฝ่าพิษดีเซลขยับ

Date Time: 5 พ.ค. 2565 05:01 น.

Summary

  • “สนค.” คาดขึ้นราคาดีเซล-สิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิต ดันเงินเฟ้อพุ่งทะยาน ดีเซลขึ้น 1 บาท เงินเฟ้อพุ่ง 0.23% ถ้าดีเซลขึ้น 5 บาท เงินเฟ้อเพิ่ม 0.67% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการลดค่าครองชีพ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“สนค.” คาดขึ้นราคาดีเซล-สิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิต ดันเงินเฟ้อพุ่งทะยาน ดีเซลขึ้น 1 บาท เงินเฟ้อพุ่ง 0.23% ถ้าดีเซลขึ้น 5 บาท เงินเฟ้อเพิ่ม 0.67% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการลดค่าครองชีพ เดือน พ.ค.ลุยจัดมหกรรมธงฟ้าราคาประหยัด 4 มุมเมือง เพิ่มรถพุ่มพวง-จุดจำหน่ายสินค้าตามชุมชน ส.อ.ท.ส่งสัญญาณแนวโน้มภาคเกษตรไทย อ่วมรับต้นทุนการผลิตพุ่ง โดยเฉพาะราคาปุ๋ยและดีเซล ดันสินค้ากลุ่มอาหารราคาเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล วันที่ 20 พ.ค.นี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้วิเคราะห์ผลกระทบ ที่มีต่อดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อของไทยเป็น 5 กรณี โดยหากราคาดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 1 บาท มาอยู่ที่ลิตรละ 32.16 บาท ในเดือน พ.ค. จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 2 บาท มาอยู่ที่ 33.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.34% ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 3 บาทมาอยู่ที่ 34.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.45% ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 4 บาทมาอยู่ที่ 35.16 บาท เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.56% และถ้าเพิ่มขึ้นลิตรละ 5 บาท มาอยู่ที่ 36.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.67%

ทั้งนี้ การขึ้นราคาดีเซล จะส่งผลกระทบทางอ้อม ให้ต้นทุนการผลิต หรือวัตถุดิบสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงยังทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้นตามต้นทุน แต่ สนค.มองว่า ผลกระทบทางอ้อมต่อเงินเฟ้อจะน้อยกว่าผลกระทบจากทางตรง เพราะกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีมาตรการการดูแลค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำ โครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าเกษตรที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แชมพู สบู่ เป็นต้น และล่าสุดเดือน พ.ค.นี้ ได้เพิ่มจำนวนรถเคลื่อนที่ (รถพุ่มพวง) เป็น 50 คัน จากเดิม 25 คัน ตระเวนขายตามชุมชนต่างๆทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล และเพิ่มจุดจำหน่ายที่อยู่ในชุมชนต่างๆ เป็น 100 จุด จากเดิม 75 จุด อีกทั้งยังเตรียมจัดงานมหกรรมธงฟ้าราคาประหยัด 4 มุมเมือง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน

นอกจากนี้ ยังคงใช้นโยบายขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้า 18 กลุ่มที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ อาหารสด, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, ข้าวสารบรรจุถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์,เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก, ปูนซีเมนต์, กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง แต่หากผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาขาย จะพิจารณาให้เป็นรายๆ และจะขอความร่วมมือให้ปรับขึ้นราคาน้อยที่สุด เพื่อให้ผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ล่าสุด กระทรวงยังได้กำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยการกำกับราคาจากโรงงานและราคาขายปลีกให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป รวมถึงเฝ้าระวัง กำกับดูแลสินค้าและบริการ ให้มีปริมาณเพียงพอ พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เพื่อติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสถาบันอุตสาหกรรม เพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบให้ภาคเกษตรกรรมของไทยโดยรวมมีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและการปรับขึ้นราคาขายปลีกของน้ำมัน ดีเซล โดยต้นทุนเหล่านี้จะสะท้อนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป ที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆในการผลิตที่ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น ประเทศไทยต้องปรับตัวรองรับกับทิศทางของต้นทุน ที่สูงขึ้นและใช้นวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการเพื่อมุ่งไปสู่เกษตรมูลค่าสูง ปรับการผลิตให้เน้นตลาดในประเทศและส่งออก ที่สมดุลในการสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรแบบยั่งยืน

“โลกมีแนวโน้มขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยที่แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่หากบริหารจัดการให้ดีก็ยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลกและเรามีความหลากหลายทางชีวภาพวัตถุดิบทางเกษตร รวมถึงปศุสัตว์ จึงมีศักยภาพที่สามารถจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และสร้างรายได้ให้กับประเทศไปพร้อมๆกับการดูแลเกษตรกรที่เป็นรากฐานของสังคมไทย ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ โดยมุ่งไปสู่อาหารแห่งอนาคต หรือเกษตรที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ