ปีนี้ตั้งเป้า 2.5 หมื่นล้าน! “สกพอ.” เห่กล่อมญี่ปุ่นยกทัพลงทุนใน “อีอีซี”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปีนี้ตั้งเป้า 2.5 หมื่นล้าน! “สกพอ.” เห่กล่อมญี่ปุ่นยกทัพลงทุนใน “อีอีซี”

Date Time: 3 พ.ค. 2565 05:48 น.

Summary

  • “สกพอ.” วาดฝันนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยจะเพิ่มโอกาสที่นักลงทุนญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ ในอีอีซีเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าญี่ปุ่นลงทุนในอีอีซีปีนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“สกพอ.” วาดฝันนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยจะเพิ่มโอกาสที่นักลงทุนญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ ในอีอีซีเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าญี่ปุ่นลงทุนในอีอีซีปีนี้ 25,000 ล้านบาท

นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เยือนประเทศไทย จะเป็นโอกาสที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ ยาและเครื่องมือแพทย์ ดิจิทัล เกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียว (บีซีจี) โดยตั้งเป้าว่าญี่ปุ่นจะลงทุนในอีอีซีปีนี้ 25,000 ล้านบาท เนื่องจากอีอีซีเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด

“ประเทศไทยต้องการดึงดูดให้ญี่ปุ่นลงทุนในการผลิตอีวี การผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากเอกชนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคมาเป็นเวลานาน รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศมาตรการส่งเสริมการผลิตอีวี ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของญี่ปุ่นด้วย ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีรวมทั้งพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เขตส่งเสริมอุตสาห กรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ซึ่งเป็นเขตบ่มเพาะนวัตกรรมให้เป็นโอกาสในการลงทุนของสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นการส่งเสริมให้ญี่ปุ่น มาลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ”

สำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในอีอีซีตั้งแต่ก่อตั้งอีอีซี ปี 2561-2564 ญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนในอีอีซีเป็นอันดับที่ 1 มีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 139,970 ล้านบาท และปีที่ผ่านมามีการลงทุน 19,445 ล้านบาท ในอุตสาห กรรมยานยนต์ 64% เทคโนโลยีชีวภาพ 10% ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 8% แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563-2564 มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในอีอีซีโดยรวมจะลดลง โดยเฉพาะอุตสาห กรรมด้านการบริการ แต่ในภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ อาหาร ยา ยังขยายตัว และปัจจุบันมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย 5,856 บริษัท โดย 40% มีธุรกิจอยู่ในอีอีซี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ