นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสหภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย.65 ว่า ผู้ตอบมากถึง 99% มีหนี้สิน ส่งผลให้ปี 65 ภาระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาท เพิ่มขึ้น 5.09% เทียบกับปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากการใช้จ่ายประจำวัน มีหนี้บัตรเครดิตและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ผู้ตอบ 31.5% ตอบเคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะจำนวนหนี้และค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ได้รายได้ไม่เพียงพอ
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่าสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าน้ำมัน ส่งผลให้การใช้จ่ายลดลง เป็นผลให้เศรษฐกิจภาพรวมขาดกำลังและไม่โดดเด่น และยังอาจทำให้หนี้ครัวเรือนในปี 65 มีโอกาสขึ้นไปสูงสุดที่ 95% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ได้ หากเศรษฐกิจ หดตัวลงจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อในอนาคต ทำให้ประชาชนชะลอการบริโภค และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากการสำรวจพบว่า แรงงานมองว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่วันละ 336 บาท ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากราคาสินค้าแพง รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4-5% โดยอาจปรับขึ้น 3-5% เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้แรงงานมีอำนาจซื้อมากขึ้น แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามการพิจารณาของไตรภาคีในแต่ละจังหวัด ส่วนการที่ลูกจ้างประท้วงขอขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 492 บาท หรือปรับขึ้นถึง 10-20% ถือว่าสูงมาก ซึ่งจะเป็นการเร่งทำให้นายจ้างขาดสภาพคล่องทันที จากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงควรยึดตามความสามารถของนายจ้างมากกว่า นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าแรงงานมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจและราคาสินค้าในปัจจุบันและอนาคตมากที่สุด (เงินเฟ้อ) ส่วนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าแรงงานไม่มีความกังวลมากนัก เนื่องจากขณะนี้มีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว.