นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริหารจัดการเงินการคลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางวิกฤติโควิด พร้อมดูแลเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผ่านมาตรการต่างๆ รวมทั้งการเยียวยาในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในทุกระดับ และขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหาช่องทางการเพิ่มรายได้ใหม่ๆ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย แต่การหารายได้ใหม่ๆ ถึงแม้จะมีช่องทาง แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น เช่น ภาษีหุ้นที่ยกเว้นการจัดเก็บมากว่า 30 ปี และอัตราจัดเก็บที่ไม่สูง ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนยอมรับได้
“ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความเข้มแข็งทางการเงินและการคลัง และไม่มีปัญหาหนี้ท่วม แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงวิกฤติโควิดรายรับของรัฐบาลอาจไม่สมดุลกับรายจ่าย แต่ได้พยายามดูแลเศรษฐกิจ และหาวิธีเพิ่มรายรับ”
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะปกติ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลัง และไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลมีความสามารถชำระหนี้ โดย สบน.ได้ติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อรายได้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 8% และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงต่ำกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ส่วนการชำระหนี้ในแต่ละปีนั้น กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรงบชำระหนี้เพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบสถานะหนี้สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ สบน.ล่าสุด ณ เดือน ก.พ.65 พบว่า ยอดหนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ 9.828 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) โดยจีดีพีมีมูลค่า 16.333 ล้านล้านบาท.