ท่องเที่ยวไทยยังโคม่าหนัก ต่างชาติมาน้อย สทท.จี้ปลดล็อกประเทศเต็มที่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ท่องเที่ยวไทยยังโคม่าหนัก ต่างชาติมาน้อย สทท.จี้ปลดล็อกประเทศเต็มที่

Date Time: 29 มี.ค. 2565 06:49 น.

Summary

  • สทท. เผยท่องเที่ยวยังอยู่ในห้อง “ไอซียู” เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อย ชี้ทางรอดต้องมี 16 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จี้รัฐเร่งปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศเต็มที่

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สทท.เผยท่องเที่ยวยังอยู่ในห้อง “ไอซียู” เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อย ชี้ทางรอดต้องมี 16 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จี้รัฐเร่งปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศเต็มที่ ด้าน ททท.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เร่งจ่ายเงิน “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ค้างจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท คาดไม่เกิน 60 วันได้ครบทุกราย

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/65 ว่า เท่ากับ 44 สะท้อนการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด แม้ดีกว่าช่วงเดียวกันปี 64 แต่ยังต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา และยังอยู่ในห้องไอซียูเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาซ้ำเติม ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเกือบ 40% ต้นทุนเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่าย และการท่องเที่ยวในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตาม 89% ของสถานประกอบการเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งใกล้เคียงภาวะปกติ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก

“ไตรมาสนี้เริ่มลดพนักงานและไตรมาสหน้าจะลดเพิ่มขึ้นอีกหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น โรงแรม/ที่พัก เปิดทำการปกติ 88% อัตราเข้าพักเฉลี่ย 30% โดย 95% ของโรงแรม/ที่พัก มีรายได้ไม่ถึงครึ่งของปกติ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการ RT-PCR ในการเดินทางเข้าประเทศ”

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ประเทศท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และเอเชีย เปิดต้อนรับชาวต่างชาติแล้ว และใช้นโยบายสร้างความสะดวกในการเดินทาง (Ease-of-Traveling) ผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศจนเกือบกลับสู่ภาวะปกติ สำหรับไทยขอให้เปิดประเทศเต็มที่ เพราะท่องเที่ยวแก้ปัญหาความยากจนได้เร็วและลึกที่สุด กระจายรายได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เกษตร อาหาร สุขภาพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และชุมชนในท้องถิ่น หากภาคท่องเที่ยวกลับมา ความเป็นอยู่ของคนไทยจะดีขึ้นทันที

“ถ้าถามว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใด รายได้เท่าใด ภาคการท่องเที่ยวถึงจะอยู่ได้ คำตอบคือ 40% ของปี 62 เป้าหมายของ สทท.คือผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน คนไทยเที่ยวไทย 75 ล้านคน/ครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้ และรายได้นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานและจ่ายภาษีนับแสนล้านบาท”

ส่วนนายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการ Smart Tourism สทท.กล่าวว่า เสนอให้รัฐดำเนินการ ดังนี้ 1.Ease-of-Traveling ยกเลิกไทยแลนด์พาส ยกเลิกตรวจ RT-PCR (Day 0) เมื่อเดินทางถึงไทย โดยอาจยังคงมีการตรวจ ATK 1 ครั้ง 2.จัดตั้งกองทุนฟื้นฟู เพื่อพัฒนา Supply-side เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีการตลาด และสินค้า-บริการ และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ 3.ส่งเสริมการตลาดเชิงลึกทุกมิติ หากรัฐปรับนโยบายท่องเที่ยวเป็นเชิงรุกเต็มตัว จะมีโอกาสเพิ่มรายได้จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 520,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 1.2 ล้านล้านบาทได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบกรณีที่ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับเงินสนับสนุนโครงการเราเที่ยวด้วยกันล่าช้า พบว่าเป็นเพราะ ททท. ตรวจสอบรายการที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายถูกต้องและป้องกันทุจริต ขณะนี้มีรายการค้างจ่าย 5.24% ของทั้งหมด 5,336 ล้านบาท คิดเป็นเงินค้างจ่าย 279 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรายการคงค้างในระบบที่ได้รับข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย เพื่อตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน คือ 1.รายการจองใช้สิทธิ์ที่เกินกว่า 5 สิทธิ์ 35,354 รายการ 2.สแกนใบหน้าหรือสแกนใบหน้าไม่สำเร็จ 18,639 รายการ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการที่รับอี-วอชเชอร์ ในการซื้อสินค้าและบริการเช่นเดียวกับกรณีที่พัก ซึ่งได้รับข้อมูลจากกรุงไทย เพื่อตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน 26,727 รายการ ส่วนค่าตั๋วเครื่องบิน หลังกรุงไทยตรวจสอบแล้วจะส่งข้อมูลให้ ททท.เบิกจ่ายต่อไปมีทั้งหมด 1,096 รายการ “ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบ รายการค้างจ่าย ทั้งหมดไม่เกิน 60 วันน่าจะเบิกจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้ครบทุกรายการที่ค้าง”.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ