หวั่นราคาน้ำมันพุ่งดันเงินเฟ้อพรวด รัฐแจงออกสารพัดมาตรการรับมือสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หวั่นราคาน้ำมันพุ่งดันเงินเฟ้อพรวด รัฐแจงออกสารพัดมาตรการรับมือสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน”

Date Time: 25 มี.ค. 2565 06:15 น.

Summary

  • สศช.-ธปท.-สศค.ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยไว้ 3 สมมติฐานหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โอกาสเศรษฐกิจขยายตัวยังไม่ต่ำกว่า 3% แต่กังวลราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สศช.-ธปท.-สศค.ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยไว้ 3 สมมติฐานหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โอกาสเศรษฐกิจขยายตัวยังไม่ต่ำกว่า 3% แต่กังวลราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกจะพุ่งถึง 46 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อสูงถึง 7%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอ รวมทั้งให้เร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด โดยราคาอาจจะต้องแพงขึ้นบ้าง ซึ่งรัฐบาลจะใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย โดยแนวทางบริหารจัดการว่า 1.ปุ๋ยจะต้องไม่ขาด รัฐบาลต้องหาปุ๋ยเพิ่มเติมจากต่างประเทศเข้ามาให้เพียงพอ 2.ราคาปุ๋ยต้องเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถรับภาระได้ โดยรัฐบาลจะหาแหล่งสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรรับผิดชอบตามราคาจริงที่ยอมรับได้ ผ่อนผันเกษตรกรไม่ต้องจ่ายต้นอย่างน้อย 2 ปี ประกอบกับรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระด้านดอกเบี้ยแทน ได้กำชับว่าต้องไม่เปิดโอกาสให้มีบุคคลหรือกลุ่มใดเข้ามาหาผลประโยชน์ หรือนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ

ประเมินเงินเฟ้อปีนี้ 5–7%

ส่วนทางด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้าร่วมด้วย โดยนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อใช้ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.2565 ขอรอดูสถานการณ์ 3 เดือนนี้ก่อน ถ้าหากสถานการณ์ยืดเยื้อมาก ทำให้การค้าขายไม่สมดุล โดยราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น จะถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ โจทย์ในการแก้ปัญหาจะยากขึ้น

นายดนุชาเปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 94.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าที่ สศช.คาดการณ์ไว้ในวันที่ 21 ก.พ.ว่าราคาเฉลี่ยของปีนี้จะอยู่ที่ 72-82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ล่าสุดได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อจัดทำการคาดการณ์ไว้ 3 สมมติฐาน ได้แก่ สมมติฐานที่ 1 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร เงินเฟ้ออยู่ที่ 5% และเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% สมมติฐานที่ 2 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก 40 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 6.2% และเศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และสมมติฐานที่ 3 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก 46 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 7.2% เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3%

“อาคม” ย้ำมีเสถียรภาพการคลัง

ขณะที่นายอาคมกล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพทางด้านการคลัง แม้จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 และในปี 2565 มาเจอความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนซ้ำเติม โดยในเดือน ก.พ. มีเงินคงคลังทั้งสิ้น 418,588 ล้านบาท ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.-ก.พ.อยู่ที่ 5.28% แต่เมื่อหักอาหารและพลังงานที่ราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 3.23% ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องดูแลราคาสินค้าเป็นหลักในช่วงสั้นๆ 3 เดือนจากนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกับหาทางลดต้นทุนของสินค้า และช่วยค่าครองชีพต่างๆของประชาชนด้วย ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางในต่างประเทศประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย ในส่วนของไทยคงต้องมีการประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

นายพรชัยกล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้น 80,247 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะกู้เงินมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ 30 บาทต่อลิตร และทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม 39,520 ล้านบาท การลดเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 3,740 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟต่ำกว่าเดือนละ 300 หน่วย ช่วยอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และช่วยลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท สำหรับช่วยลดค่าก๊าซให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ช่วยคงราคาขายก๊าซเอ็นจีวีที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และช่วยค่าก๊าซหุงต้มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ลดส่งเงินประกันสังคม

นายสุชาติกล่าวว่า การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่า 34,540 ล้านบาท เช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ลดภาระค่าครองชีพ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 เดิมต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84-360 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ นายจ้าง 500,000 ราย จะได้ลดเงินสมทบจาก 5% เหลือ 1% ช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อเดือนลง 600,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท จึงหวังว่าผู้ประกอบการจะไม่ขึ้นราคาสินค้า

นายกุลิศกล่าวว่า งบประมาณด้านพลังงานที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่มีโควิด-19 ในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นวงเงิน 164,228 ล้านบาท เช่น การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การคืนเงินผู้ใช้ไฟฟ้า การบริหารค่าเอฟที เงินผลประโยชน์ Take or pay เงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้า และเงินของ ปตท. ขณะที่มาตรการรอบใหม่นี้จะใช้เงินอีกร่วม 43,602-45,102 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นมากกว่า 200,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ