“คณิศ” ชี้ถึงเวลารัฐปรับนโยบายเศรษฐกิจ ช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีอาชีพได้อีกครั้ง หลัง 2 ปีที่ผ่านมา รายได้คนกลุ่มนี้หายไป 1 ล้านล้านบาท ลั่น “คนละครึ่ง” ดี แต่รัฐช่วยให้กินข้าวได้แค่ครึ่งชาม ต้องช่วยให้สร้างรายได้ด้วยตัวเอง ด้าน “อีอีซี” จับมือแบงก์รัฐทำ “แซนด์บ็อกซ์” สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นรูปตัว K หรือ K-shape ที่จะดีขึ้นเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจส่งออก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ราว 60% ยังไม่ฟื้นตัว เพราะถูกถ่วงด้วยรายได้ที่หายไปกว่า 1 ล้านล้านบาทในปี 63-64 โดยเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง ซึ่งรายได้ที่หายไป ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องนำเงินออมมาใช้ เมื่อระยะหนึ่งผ่านไป ก็สร้างหนี้เพิ่มขึ้นมา ทำให้หนี้ภาคประชาชนขึ้นมาใกล้เคียงกับรายได้ที่หายไป สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลต้องวางนโยบายเศรษฐกิจทั้ง 2 ขา โดยต้องสร้างให้คนกลุ่ม K ขาล่าง กลับมาสร้างรายได้ได้เหมือนเดิม
“รัฐบาลมีนโยบายคนละครึ่ง ก็เหมือนให้ข้าวประชาชนแค่ครึ่งชาม ซึ่งช่วยพยุงขึ้นมาได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนกลุ่มนี้หารายได้ด้วยตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะฝึกอบรมให้มีอาชีพ หรือใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด”
ทั้งนี้ เมื่อคิดจากจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่ม K ขาบน รวมกับข้าราชการที่ได้เงินเดือนปกติ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบ ไม่น่าจะเกิน 20% ของประชาชนในประเทศ ขณะที่อีก 20% พอเดินได้บ้าง แต่ในส่วน K ขาล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ราว 60% ยังไม่ฟื้นตัวได้ ถ้าไม่มีมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล รายได้ที่หายไปจะสูงถึง 1.76 ล้านล้านบาท หากไม่ช่วยคนกลุ่มนี้ หารายได้ด้วยตัวเอง รัฐบาลก็ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ ดังนั้น นโยบายรัฐบาลจึงต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้ดีๆ
นายคณิศกล่าวว่า สกพอ.ร่วมกับธนาคารของรัฐ จัดทำแซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่ทดลองในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถ้าทำสำเร็จก็สามารถนำไปใช้กับทั้งประเทศได้ โดยจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ผู้ค้ารายย่อย ผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและวิสาหกิจชุมชน ให้กลับมาประกอบอาชีพใหม่อีกครั้ง รวมทั้งปรับเปลี่ยนกิจการ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกิจการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้มียอดขายเพิ่มขึ้น
โดยล่าสุด ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ประชาชนนำเงินไปประกอบอาชีพใหม่แล้ว 24,728 ราย รวม 5,443 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 190,000 บาท, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ให้เงินกู้ธุรกิจ 22 รายเพื่อปฏิรูปการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีแล้ว 22ราย วงเงิน 1,940 ล้านบาท, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ 66,019 ราย วงเงิน 84,367 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้กู้ 3,785 ราย วงเงิน2,047 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี แบงก์) ให้กู้ 250 ราย วงเงิน 249 ล้านบาท จากเป้าหมาย 175,774 รายในพื้นที่อีอีซี
“การทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจากนี้ไป จะยึดกรอบทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ หนี้สาธารณะของประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่มีนัยยะอะไร สามารถเดินไปได้ เพราะไทยไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศในจำนวนสูง และปัญหาของกลุ่มคนที่อยู่ใน K ขาล่าง มาจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเพราะตราบใดที่นักท่องเที่ยวไม่กลับมาระดับ 30-40 ล้านคนต่อปีเหมือนเดิม เศรษฐกิจไทยก็จะโตได้แค่ 2-3% พ่อค้าแม่ค้าเคยขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 100 ชามก็เหลือแค่ 50 ชาม แต่ต้องให้เขาได้กลับมาขายเพื่อให้มีรายได้ ให้พอเดินไหว และอยู่ได้ ซึ่งต้องเป็นนโยบายของประเทศที่เข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้”.