กกพ.ขึ้นค่า FT เดือน พ.ค.-ส.ค. 65 ให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 65 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กล่าวว่า จากการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย
โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีมาจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤติราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ กกพ.ต้องปรับสมมุติฐานการประมาณการค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์ที่ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน
ทั้งนี้ ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟทีในช่วงเดือน พ.ค. ถึงเดือน ส.ค.65 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย และหากพิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีงวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมโดยกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม และมาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ร่วมกับมาตรการการนำ Energy Pool Price มาใช้
เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม สามารถทำให้ค่าเอฟทีลดลง เป็นผลให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวดนี้เพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ตามแนวทางจากภาคนโยบาย กฟผ.จะแบกรับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไว้ก่อน และจะทยอยเรียกคืนค่าเอฟทีเมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 ตามข้อเสนอของ กฟผ. ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 เท่ากับประมาณ 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค.-เม.ย. 65) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 55.11 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 19.46 และ ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.32 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 8.08 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.58 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.19% และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.25
3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1-31 ม.ค. 65) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายคมกฤช กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติราคาพลังงานขาขึ้น สำนักงาน กกพ.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟ ร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 4 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ, ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน รวมทั้งปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศาฯ และ เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพสำหรับตัวท่านเอง และยังจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย.