นายกฯเผยมาตรการใหม่ ช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ขอความร่วมมือให้ผู้ค้าเอ็นจีวีให้ตรึงราคา ไม่ทิ้งกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ใช้น้ำมันเบนซิน เปรยช่วยเหลือค่าไฟฟ้าต่อ รอสรุปภายในสัปดาห์นี้ก่อนเสนอ ครม.คลังขานรับเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแต่ขอพิจารณาก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือเรื่องพลังงานและการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมาตรการเบื้องต้น คือ การบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มสำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า การช่วยเหลือเรื่องของราคาน้ำมันเบนซินในกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงจะขอความร่วมมือให้ผู้ค้าเอ็นจีวีให้ตรึงราคาในช่วงวิกฤติพลังงานไปก่อน เป็นสิ่งที่รัฐทำได้ในเวลานี้ ซึ่งจะมีการสรุปให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณ
“เรื่องราคาน้ำมันดีเซล พยายามตรึงไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไปก่อนและสามารถกู้ได้อีก 40,000 ล้านบาท ถ้าตรึงไปจนถึงที่สุดแล้วก็อาจต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติ ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่ หลายคนบอกว่าทำไมในเมื่อราคาน้ำมันลงแล้วเราไม่ลดลง อย่าลืมว่าที่ผ่านมามันแพงเกินราคานี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะลงอย่างไรก็เกินลิตรละ 30 บาท”
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของไทย ขอทุกคนเข้าใจและร่วมมือกัน เพราะถ้าไม่ร่วมมือกัน ขัดแย้งกันไป วิกฤตการณ์ก็แก้ไขไม่ได้ รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ ซึ่งทุกกระทรวงต้องช่วยกันภายใต้งบประมาณที่มีไม่เพียงพอ แต่มีปัญหาหลายเรื่อง โดยในเรื่องของอาหารสัตว์และปุ๋ย ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาความช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับ เกษตรกร
“เรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ เป็นหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบในการควบคุมราคา แต่ก็ต้องดูว่าเป็นธุรกิจเช่นเดียวกัน ถ้าเราคุมราคาไว้ในขณะที่ต้นทุนสูง จะให้ขายในราคาต่ำ ผู้ประกอบการก็คงทำธุรกิจไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องดูที่ความเหมาะสมให้เกิดความเป็นธรรม ก็อยากขอร้องให้ธุรกิจเอกชนต่างๆ ขอให้ลดราคาลงบ้าง ไม่ใช่ลดจากราคาเดิมก่อนมีสงคราม แต่อยากขอให้ลดในส่วนของกำไรลงมาหน่อยได้หรือไม่ เพราะรัฐไม่อยากไปควบคุมมาก จนทำให้ธุรกิจเดินไม่ได้ สิ่งสำคัญต้นทุนมาจากต่างประเทศเสียจำนวนมาก ซึ่งไทยมีปัญหาตรงนี้อยู่จึงต้องสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิตเดินได้ด้วยตัวของเราเอง”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มเปราะบาง และช่วยเหลือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ โดยกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินว่า กระทรวงการคลัง ขอเวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง