ครม.เตรียมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าให้เหลือศูนย์ บรรเทาค่าไฟช่วยประชาชน 6 เดือนคาดช่วยลดค่าไฟได้ประมาณ 1 – 1.50 บาทต่อหน่วย
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.65 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการได้เสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์ สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่า 60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร โดยมาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 ก.ย. 65 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง
และจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตเนื่องจากในสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีรายได้ภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1 – 1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง