ผวาราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด กกร.แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน รับมือสงคราม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผวาราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด กกร.แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน รับมือสงคราม

Date Time: 3 มี.ค. 2565 07:36 น.

Summary

  • กกร.หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 2.5-4-5% หลังสงครามรัสเซียถล่มยูเครนผวาราคาน้ำมัน 120 เหรียญสหรัฐฯ แนะรัฐกู้อีก 1 ล้านล้านบาท รับมือพร้อมตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์สถานการณ์ใกล้ชิด

Latest

อ่านเกม กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขาลง จับตาหนี้ครัวเรือน - สินเชื่อหดตัว “จุดเปลี่ยน”

กกร.หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 2.5-4-5% หลังสงครามรัสเซียถล่มยูเครนผวาราคาน้ำมัน 120 เหรียญสหรัฐฯ แนะรัฐกู้อีก 1 ล้านล้านบาท รับมือพร้อมตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์สถานการณ์ใกล้ชิด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน มี.ค.นี้ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 2.5-4.5% จากเดิมประเมินว่าจะมีการเติบโต 3-4.5% และเงินเฟ้อทั่วไปคาดเพิ่มขึ้น 2-3% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5-2.5% ขณะที่การส่งออกยังคงคาดว่าเติบโต 3-5%

ทั้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันมากขึ้น ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบได้พุ่งสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับเศรษฐกิจของประเทศ ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้ โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ตามทิศทางราคาพลังงาน ซึ่งอาจสูงกว่าระดับ 3% ได้เป็นเวลานาน จากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะสูงต่อเนื่อง และมีโอกาสสูงถึง 120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลไปอีก 20-30 วัน

“ภาคเอกชนขอเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันและออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป และเสนอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตร โดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าของไทยต่อไป

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในหลายๆ ด้าน ทั้งเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมาก กดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตแพงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลงได้ เป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย

“แม้การส่งออกของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มากนัก แต่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นๆที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ส่วนการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบไม่มากเช่นกัน จากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะลดลงจากมาตรการที่จำกัด การเดินทางเช่นการปิดน่านฟ้า”

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีนี้ชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่ายังไม่รุนแรง สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามาก ประกอบกับหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปก็เริ่มปรับกลยุทธ์ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดประเทศในฝั่งเอเชียรวมถึงประเทศ ไทยกำลังเข้าสู่จุดสูงสุด แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ