ครม.ลุยเต็มสูบหนุนไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยกเว้น-ลดภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต แถมจ่ายเงินอุดหนุนให้อีกคันละ 70,000-150,000 บาท โดยรถยนต์นั่ง-รถกระบะ อุดหนุนสูงสุดคันละ 150,000 บาท จักรยานยนต์ราคาไม่เกินคันละ 150,000 บาท อุดหนุน 18,000 บาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศ ตามนโยบาย 30/30 คือ ในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน
ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิตดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนและเห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566-2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุน พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมสรรพสามิตคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุน และให้ออกเป็นประกาศกระทรวงการคลังด้วย
สำหรับมาตรการสนับสนุน ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี ได้แก่ 1.กรณีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (รถยนต์นั่ง) ประเภท BEV (รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566 ดังนี้ การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร ส่วนกรณีเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40% ขณะที่การนำเข้าทั่วไป ให้ได้รับการลดอัตราอากร จาก 80% เหลือ 40% และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568 ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปี 2565-2568 กรมสรรพสามิตจะมีเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่ง ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และช่วยเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่ง ที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)
2.รถยนต์นั่ง ขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ที่ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566 การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร กรณีอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 20% ส่วนการนำเข้าทั่วไปให้ได้รับการลดอัตราอากรจาก 80% เหลือ 60% ขณะเดียวกันปรับลดอัตราภาษี สรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568
3.กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถกระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป 4.กรณีรถจักร ยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด และให้เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถจักรยานยนต์ สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)