ผู้ประกอบการธุรกิจ–สายการบิน ยกทัพรวมพลัง “IATA–BAR–AOC” โบกธงสนับสนุน ทอท.ลุยสร้างอาคารทางด้านทิศเหนือ “North Expansion” สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะพุ่งทะลักหลังโควิด–19 คลี่คลาย เดิมพันชัดขณะนี้เป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดกับการสร้าง, ขยาย, ปรับปรุง เพื่อรองรับผู้โดยสารเดินทาง 101 ล้านคนต่อปีใน 20 ปีข้างหน้า หากไม่ทำ ประเทศไทย จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการ ที่ปรึกษาการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Consultative Committees : ACC หรือเอซีซี) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศ ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเอซีซีที่ประกอบไปด้วยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA หรือ ไออาร์ต้า), คณะกรรมการตัวแทนจากสายการบิน (Board of Airline Representatives : BAR) และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (Airline Operators Committee : AOC) ได้มีความเห็นตรงกันว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ (North Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ และระหว่างประเทศ (Mixed Concept) รองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะกลับมาหลัง
โควิด-19 คลี่คลายลงเหตุผลที่ ทอท.ต้องสร้าง “North Expansion”
“ก่อนหน้านี้ เอซีซี ได้ทำหนังสือถึง ทอท.ถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจการบิน และสายการบินมีความต้องการให้ ทอท.ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ก่อนที่ ทอท.จะมีการรายงานต่อในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และไออาร์ต้ายังได้สรุปผลการศึกษาและการคาดการณ์ปริมาณ ผู้โดยสารของสนามบินว่าจะกลับมาฟื้นอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารปีละ 65 ล้านคน ในปี 2567-2568”
ขณะที่ไออาร์ต้าได้ประเมินทางเลือกในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารสนามบินเพื่อรักษาระดับการให้บริการ (Level of Service : LoS) ของสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตทั้งหมด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimum) ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ทอท.จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ เนื่องจากจะได้พื้นที่และมีความคุ้มค่า รองรับการใช้งานของผู้โดยสารได้ดีที่สุด หากมีการสร้างจะรองรับผู้โดยสารได้อีกถึง 20 ล้านคนต่อปี โดยอาคารดังกล่าว จะเป็นอาคารที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Mixed Concept) ที่ตามแผนจะมีหลุมจอด และอาคารจอดรถผู้โดยสารที่แยกออกมาอย่างชัดเจน จะทำให้ไม่ไปรวมกับอาคารผู้โดยสาร และอาคารจอดรถหลังเดิม โดยหากผู้โดยสารจะเดินทางเชื่อมต่อไปยังอาคารเดิม ก็สามารถเดินทางด้วยระบบรถไฟเชื่อมต่ออาคารได้หากไม่ลงทุน ทอท.สูญเสียหลายต่อ
สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ผู้ใช้งานจริงในสนามบิน ระบุว่า ทำไม ทอท. ถึงไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิเดิม ตนขอยืนยันว่า แผนดังกล่าวเป็นแผนที่มีการศึกษามานานหลายสิบปี และขณะที่มีการศึกษาและจัดทำแผนก็ไม่ได้มีการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ว่าจะมีโควิด-19 แต่เมื่อมีโควิด-19 การพัฒนาย่อมเปลี่ยนแปลงไป ในฐานะเอซีซีเป็นผู้ใช้งานจริงในสนามบิน เห็นควรว่าในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาด สถานการณ์การบินก็ยังไม่ปกติ การเดินทางทางอากาศยังมีปริมาณน้อย ทอท.ยิ่งควรเร่งสร้างอาคารด้านทิศเหนือ
“เนื่องจากผลการศึกษาหลายสถาบันก็ชี้ชัดว่าหากโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักโดยเฉพาะปี 2567-2568 มีผู้โดยสารถึง 65 ล้านคนต่อปีและยังมีการคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ 101 ล้านคนต่อปีใน 20 ปี ข้างหน้า หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทย ก็จะมีสนามบินที่พร้อมให้บริการรองรับผู้โดยสารเดินทางได้ทันที เพราะหากไม่ดำเนินการ ผู้โดยสารจะเสียโอกาสในการใช้บริการที่ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ และเสียโอกาสทางด้านการเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค”
ขณะเดียวกัน ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 สนามบินสุวรรณภูมิก็อยู่ในสภาพจวนเจียนระเบิด เพราะปริมาณผู้โดยสารมากเกินรองรับได้กว่า 60-65 ล้านคนต่อปี พอมีสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาจึงคลี่คลายลง ซึ่งปัญหาการแออัดภายในสนามบิน ทอท. เข้าใจความรู้สึกของผู้ประกอบการสายการบิน และทุกๆธุรกิจที่อยู่ในสนามบิน ว่ามีปัญหามากเพียงใด ทอท.จึงมีมุมมองเดียวกับสายการบิน คือจะต้องเร่งพัฒนาสนามบินให้รองรับได้ถึง 20 ปีข้างหน้า ในการสร้างอาคารทางด้านทิศเหนือ ถามว่าทำไมไม่สร้างอาคารทางด้านทิศใต้ ซึ่งตามแผนแม่บทต้องใช้ระยะเวลานาน รวมถึงใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงไม่ทันกับโจทย์ปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้.