ปัญหาในระบบคมนาคม คือหนึ่งในปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่การขนส่งสาธารณะยังไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนได้ดีพอ ส่งผลให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สร้างปัญหาจราจรและมลภาวะ
หรือหากมองภาพใหญ่ของประเทศ “ระบบราง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค รวมถึง “ท่าอากาศยาน” และ “ท่าเรือ” ที่จะพาไทยสู่เวทีโลกก็ยังได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ จนภาคธุรกิจ ขนส่ง และอุตสาหกรรมเสียโอกาสจะเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เหล่านี้คือสิ่งที่ไทยต้องเผชิญเป็นระยะเวลานับทศวรรษ และเป็นโจทย์ที่ทางกระทรวงคมนาคมพยายามมองหาทางออกเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นด้วยคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ โดยในงานเสวนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยกระทรวงคมนาคมและไทยรัฐกรุ๊ป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ถึงแผนงานยกระดับประเทศด้วยคมนาคมที่ดีใน 4 มิติ ที่จะตอบโจทย์การพัฒนารอบด้าน ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดี การสร้างโอกาสใหม่ และการลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม
กระทรวงคมนาคมวางแผนไว้อย่างไร? ไทยรัฐออนไลน์ขอสรุปประเด็นจากงานเสวนาครั้งนี้ และเชิญชวนทุกท่านมาร่วมคาดหวังถึงอนาคตที่น่าจับตาไปพร้อมกัน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญที่การ “บูรณาการ” หรือการเชื่อมโยงการพัฒนาทุกรูปแบบเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้ถึงขีดสุด
จากเดิมที่ระบบคมนาคมแต่ละประเภทจะลงทุนแยกจากกัน แต่ภายใต้แผนแม่บทใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การคมนาคมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ถนน ระบบราง ทางน้ำ และอากาศ จะถูกออกแบบให้สนับสนุนการสร้างโอกาสให้แก่กัน
โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การลงทุนของกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังคงเดินหน้าโครงการทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเดินทางภายในกรุงเทพมหานครฯ ซึ่งมีโครงการรถไฟฟ้า 14 สายเป็นแกนหลัก และในส่วนของการพัฒนาถนนและระบบรางเชื่อมโยงภูมิภาค และการอัปเกรดท่าอากาศยานและท่าเรืออย่างบูรณาการ เพื่อรองรับภาคโลจิสติกส์ ซึ่งกระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทยในอนาคต
สำหรับคนกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาจราจรและปัญหามลภาวะที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาป อันเป็นผลมาจากระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ตอบโจทย์ โครงการรถไฟฟ้า 14 เส้นทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน โดยพัฒนาทั้งเส้นทางใหม่และเส้นทางเชื่อมต่อ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด หวังจะช่วยลดปัญหาการจราจร และเปลี่ยนแนวคิดการเดินทาง ให้คนเมืองหันมาเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก
โดยแผนการทั้งหมดของระบบรถไฟฟ้าทั้ง 14 เส้นทาง จะมีระยะทางรวม 554 กม. ซึ่งในปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 212 กม. หรือกล่าวได้ว่าเกือบครึ่งทางของแผนงาน ส่วนระยะทางที่เหลือมีทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และทยอยเปิดให้บริการ คาดว่าภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือในปี 2571 ประชาชนจะเริ่มมองเห็นความสำเร็จของโครงการทั้งระบบ
นอกจากนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวอีกว่าสิ่งที่กระทรวงคมนาคมวางแผนไปอย่างคู่ขนานคือการพัฒนาระบบ Feeder หรือการเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบสาธารณะสู่ที่อยู่อาศัย แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งธุรกิจ ด้วยการใช้ขนส่งพลังงานสะอาดเช่น E-Bus และ E-Boat เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ในการเดินทางภายในเมือง จากแต่เดิมที่การออกจากบ้านประชาชนจะคิดว่าถนนเส้นไหนรถจะติดน้อยที่สุด เปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟฟ้าไหนที่ใกล้ที่สุด ซึ่งหากทั้งระบบแล้วเสร็จ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้มหาศาล และยังสะท้อนกลับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลของประเทศ
ในส่วนของการพัฒนาคมนาคมทั้งประเทศในองค์รวม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เล่าถึงแผนการยกระดับโลจิสติกส์ไทยผ่านคมนาคมที่แข็งแกร่ง เพื่อตอบโจทย์การ “ลดต้นทุน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และอื่นๆ โดยการพัฒนาจะเป็นไปอย่างบูรณาการ สานระบบการขนส่งทั้งทางถนน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานและท่าเรือเข้าด้วยกันภายใต้แผนแม่บทเดียว
ที่ผ่านมาระบบรถไฟไทยเป็นลักษณะของรางเดี่ยว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความล่าช้า เพราะต้องรอเวลาในการเทียบท่าขนส่ง จนผลักดันภาคโลจิสติกส์ให้หันไปใช้รถบรรทุกแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและสร้างผลกระทบต่อจราจรทั่วประเทศอีกทางหนึ่ง ดังนั้นด้วยแผนงานใหม่ที่มุ่งปฏิรูปรถไฟไทยสู่ระบบรางคู่จะทำให้ปัญหาที่เคยมีถูกแก้ไข เมื่อรถไฟสามารถเดินทางได้รวดเร็ว ตรงเวลา ไม่เพียงประชาชนคนเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น แต่ภาคโลจิสติกส์ยังสามารถเลือกใช้งานรถไฟในการขนส่ง ซึ่งจะช่วยทั้งด้านการลดต้นทุน และความตรงต่อเวลาอันเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่ง
ขณะนี้ระบบรถไฟทางคู่ ก่อสร้างแล้วเสร็จสี่เส้นทาง 568 กม. ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีรถไฟทางคู่แล้ว 1,111 กม. และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกสองโครงการ ระยะรวม 678 กม. รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับโครงการระยะที่สองอีกเจ็ดโครงการ รวม 1,483 กม. และยังมีโครงการคู่ขนานกับโครงการรถไฟทางคู่ คือโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา โดยได้จัดแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบกเสร็จแล้ว การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP)
รถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่ได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ในแง่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายความเจริญ การท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้และโอกาสใหม่ๆ
ในปัจจุบันแผนการก่อสร้างได้ดำเนินการไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายในระยะแรกไว้กับสองโครงการหลัก ได้แก่ โครงการ “รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1” กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ความเร็วในการวิ่งรถสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จปี 2569 โครงการนี้เป็นที่จับตาอย่างมากในกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรมไทยที่มองว่าเป็นการสร้างโอกาสครั้งใหญ่ที่จะเชื่อมไทยสู่ประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น จีน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากพื้นที่ใหม่ๆ ตลอดเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงเข้าถึง
อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “รถไฟความสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชน โครงการนี้นอกจากจะช่วยภาคท่องเที่ยวแล้ว ยังจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายสำคัญคือการขนส่งนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ที่มีการลงทุนเม็ดเงินอย่างมหาศาลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมีการเดินทางเข้าถึงที่สะดวกยิ่งขึ้นก็ยิ่งสร้างโอกาสเพิ่มให้กับมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวม
ทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์อีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้การเดินทางระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีการเร่งดำเนินการในหลายเส้นทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาภาคขนส่งในมิติอื่นๆ อย่างคู่ขนาน ซึ่งเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่
● โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน-โคราช (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร (คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566)
● โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร (คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566)
● ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) (เตรียมเปิดให้บริการในปี 2567)
● ทางพิเศษ พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ในอนาคต กระทรวงคมนาคมเชื่อมั่นว่าทางหลวงพิเศษจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพราะถูกออกแบบภายใต้แผนแม่บทเดียวกับระบบราง ทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสซึ่งกันและกัน โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ระบุว่า การบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางเข้าด้วยกัน จะเรียกว่าแผนแม่บท MR-MAP ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินลงได้มาก และยังช่วยส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
และหนึ่งในโครงการที่น่าจับตาอย่างยิ่งภายใต้แผนแม่บท MR-MAP คือโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) หรือสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ที่ไทยไม่เคยทำได้มาก่อน กับการเป็น Hub ที่จะเชื่อมการค้าระหว่างสองฝั่งโลกเข้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอ้อมมะละกา ช่วยลดระยะเวลาเดินทางลงได้อย่างน้อยสี่วัน ผ่านทางท่าเรือชุมพร-ระนอง ที่จะเชื่อมโยงกันด้วยการขนส่งพิเศษทางถนนที่มีทั้งระบบราง มอเตอร์เวย์ และท่อส่งน้ำมัน
โครงการนี้นับได้ว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์สำคัญโดยใช้ข้อได้เปรียบจากภูมิศาสตร์ของไทยที่เคยปล่อยผ่านมาตลอด ไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคโลจิสติกส์ของไทย แต่โครงการเกี่ยวเนื่องต่างๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมขนาดเบา และอุตสาหกรรมบริการ ก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และความเจริญที่จะเข้าถึง
โดย นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย แสดงความเห็นถึงโครงการดังกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย เพราะประเทศไทยเราต้องการสถานะที่จะเป็น Hub ในภูมิภาคมานาน และในวันนี้ เรากำลังมีโครงการที่จะมารองรับ ทำให้อนาคตภาคโลจิสติกส์จะไม่ใช่เพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการขนส่งเท่านั้น แต่จะพัฒนาเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญที่จะนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมหาศาล
นอกจากนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ด้วยการพัฒนาทั้งหมดจะทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงอย่างมาก ซึ่งแผนการพัฒนาคมนาคมจะสอดคล้องไปกับการที่เราจะสามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไปได้ เพราะเราทำอุตสาหกรรมแปรรูปเยอะ เราพึ่งพาต่างชาติเยอะ ต่างชาติจะมองว่าระบบโลจิสติกส์ภายในเราเป็นอย่างไร ขนส่งเราเป็นอย่างไร วันนี้ต้องยอมรับว่าบางอย่างเราเสียเปรียบ ค่าแรงเราเสียเปรียบ ที่ดินเราอาจจะเสียเปรียบ แต่ถ้าโลจิสติกส์เราได้เปรียบ เรามาแน่”
ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมเชื่อว่าในอนาคตจะกลายเป็นทางเลือกหลักให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลก ทั้งจากต้นทุนที่ลดลง การที่ไม่ต้องเผชิญความแออัดที่ช่องแคบมะละกา และการลดระยะเวลาลงได้อย่างมาก และคาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดเงินได้มากถึง 14,000 ล้าน US ต่อปี
มีการคาดการณ์โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ในสิบปีข้างหน้า ไทยจะเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยือนเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือมีนักท่องเที่ยวบินมาถึง 200 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยสามารถรองรับการเดินทางได้ประมาณ 60-70 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้นแผนการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาจึงสำคัญอย่างยิ่ง
กระทรวงคมนาคมจึงเริ่มทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานทุกแห่งทั่วไทย ในส่วนของสุวรรณภูมิจะมีการก่อสร้างอาคาร SAT-1 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงมีการก่อสร้างรันเวย์ที่สามเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับเที่ยวบินได้ 94 เที่ยว/ชม. และยังลงทุนเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารในส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือและอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่หนึ่ง ซึ่งมีระยะดำเนินการระหว่าง 2564-2567
ทางด้านท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนที่จะปรับปรุงปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 3 ปรับปรุงทางขับ Taxi Way เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570
นอกจากนี้ยังมีแผนงานพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่ EEC มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารได้มากสุด 15.9 ล้านคนต่อปี และในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ตได้เตรียมการที่จะขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายหลุมจอด และลานจอด รวมทั้งสาธารณูปโภคให้รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2570
ทั้งนี้ การพัฒนาท่าอากาศยานมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศให้ไทยเสมอมา นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ให้ความเห็นเพิ่มเติมในกรณีนี้ว่า รู้สึกดีใจที่ได้เห็นแผนงานพัฒนาคมนาคมโดยกระทรวงคมนาคม เนื่องจากจะมีส่วนผลักดันให้ไทยเกิดความพร้อมในการแข่งขันกับนานาประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งนายศิษฎิวัชรมองว่า แม้ไทยจะมีพื้นฐานการท่องเที่ยวที่ดี และเป็นปลายทางในฝันของนักท่องเทียวทั่วโลกอยู่แล้ว แต่การที่เรามีความพร้อมด้านคมนาคมจะทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศถูกถ่ายทอดออกไป ช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้น ไม่เพียงแค่เรื่องของสนามบินที่พร้อมรองรับนักเดินทางได้มากขึ้น แต่เมื่อถนนหนทางดี ก็จะพานักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งใหม่ๆ ได้สะดวกขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตยิ่งกว่าเดิม
จากแผนการทั้งหมดของกระทรวงคมนาคม ทั้งในส่วนที่กำลังดำเนินการและส่วนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เห็นภาพกว้างของการพัฒนาประเทศโดยมีคมนาคมเป็นแกนกลางได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา และราคาที่สมเหตุสมผล เป็นไปตามแนวทางที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุไว้ว่า การพัฒนานับจากนี้จะเป็นการบูรณาการเพื่อถักทอประโยชน์ร่วมกันระหว่างระบบต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ กระจายความเจริญ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
จากมูลค่าการลงทุนรวมทั้งโครงการในปัจจุบันราว 1.4 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเพิ่มโอกาสการจ้างงานมากถึง 154,000 ตำแหน่ง และมีเม็ดเงินไหลไปสู่ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมากถึง 1.24 ล้านล้านบาท นอกจากนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ให้ไทยได้ราว 2.35% หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้