สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้งกองทุนชดเชยและป้องกัน ASF เร่งสกัดโรค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้งกองทุนชดเชยและป้องกัน ASF เร่งสกัดโรค

Date Time: 14 ม.ค. 2565 17:26 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้ง กองทุนชดเชยและป้องกัน ASF ระดมทุนรายใหญ่-รายเล็ก หวังสกัดการแพร่ระบาดก่อนสร้างความเสียหาย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้ง กองทุนชดเชยและป้องกัน ASF ระดมทุนรายใหญ่-รายเล็ก หวังสกัดการแพร่ระบาดก่อนสร้างความเสียหาย

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 65 น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF เป็นโรคที่อุตสาหกรรมสุกรทั่วโลกหวาดกลัว ภาคเอกชนทุกแห่งจึงร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ในการป้องกันไม่ให้เชื้อดังกล่าวเข้ามาถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะเกิดกับเกษตรกรรายย่อย หรือรายใหญ่ ก็คือความเสียหายของอุตสาหกรรมหมูทั้งประเทศ จึงเป็นช่วงเวลาของการร่วมมือร่วมใจกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คณะกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยและป้องกัน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 โดยมีหลักคิดคือ เมื่อเกิดการระบาดของโรครอบประเทศไทย ทำให้หมูของชาวบ้านที่อยู่ชายแดนใกล้เขตการระบาดของเพื่อนบ้านจะมีความเสี่ยงมาก หากปล่อยให้หมูชาวบ้านติดเชื้อ ASF จะทำให้รายย่อยล่มสลาย และฟื้นกลับมาใหม่ยากมาก

ดังนั้น การเข้าไปซื้อหมูชาวบ้านที่ยังไม่เป็นโรคในเขตเสี่ยง เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินสดเก็บไว้หรือใช้หนี้สินจะมีประโยชน์กว่า หากรอจนระบาดแล้วเชื้อจะอยู่ในพื้นที่อาจอยู่นานถึง 3-5 ปี ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาเช่นในจีนและเวียดนามรายย่อยจะหมดไป การป้องกันชาวบ้านเท่ากับป้องกันประเทศด้วย

โดยกองทุนนี้เกิดจากการที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีน (เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561) ซึ่งโรคได้แพร่ระบาดล้อมประเทศไทย

ทั้งนี้ ทางสมาคมจึงได้ศึกษาถึงระบาดวิทยา ศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับการระบาดของโรค ศึกษาถึงการบริหารจัดการของภาครัฐในแต่ละประเทศ ศึกษาถึงความสำเร็จ และความล้มเหลวการป้องกันโรค จึงมองว่าความสำเร็จในการป้องกันโรคจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง หากต่างคนต่างคิด ท้ายที่สุดโรคอาจลามไปทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างด่านทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อ 5 ด่านหลัก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บริษัทใหญ่ อาทิ ซีพี เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ ในฐานะสมาชิกสมาคมฯ เท่านั้น แต่รายย่อยก็ได้รวมเงินกันสร้างด่านด้วย ในนามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแล และนำมาสู่การตั้งกองทุนในครั้งนี้
 
สำหรับการเก็บเงินเข้ากองทุนซึ่งมองถึงระยะยาว ที่ประชุมมีมติให้เก็บเงินจากเกษตรกรเข้ากองทุนโดยเท่าเทียมกัน โดยการจัดเก็บเริ่มในรายใหญ่ก่อน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมโดยเร็ว และทันต่อสถานการณ์ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนส่วนกลางของสมาคม และส่วนที่เป็นของภูมิภาคจัดเก็บส่วนการโอนถ่ายย้ายเงินเป็นไปตามคณะกรรมการกองทุนจะพิจารณาต่อไป การระดมเงินและการใช้เงินกองทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์

โดยมีขั้นตอนและการดำเนินงานที่ชัดเจน ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จากการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนเป็นความเห็นชอบและการยอมรับแนวทางร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมอย่างยั่งยืน กองทุนนี้ มีทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่เลี้ยงหลักร้อยตัวติดต่อเข้าร่วมสนับสนุน ถือเป็นจุดร่วมการทำงานเพื่อยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ในหลายด้าน

ทั้งด้านระบบ biosecurity การจัดเก็บเงินกองทุน ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก มีเงินกองทุนถึง 4 แสนล้านบาท ส่วนของประเทศไทยเรามีการระดมทุนได้ประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันโรค แต่พี่น้องเกษตรกรยินดีเสียสละ เพื่อร่วมกันป้องกัน แม้รู้ว่ามันยากหนักหนาสาหัส แต่เราสามารถป้องกันประเทศเรามาได้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

โดยภาคบริษัทใหญ่ต่างดูแลฟาร์มของตนเองและเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทส่งเสริมการเลี้ยงหมูเป็นอย่างดี โดยใช้กระบวนการบริหารจัดการและการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับของบริษัทเอง เพื่อให้ฟาร์มปลอดภัย ปลอดโรค โดยเฉพาะการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม ดูแลฟาร์มให้ปราศจากไวรัสและแบคทีเรียด้วยการปฏิบัติตามกฎด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ

อาทิ การฆ่าเชื้อเสื้อผ้าและรองเท้าบูตอย่างถูกต้อง ไม่นำผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเข้าฟาร์ม การทำซีลบุคลากรในฟาร์มให้อยู่เฉพาะภายในฟาร์มภายใต้การดูแลความเป็นอยู่ที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการนำโรคเข้าสู่ฝูงสัตว์ และการจัดเตรียมรองเท้าและเสื้อผ้าสำหรับใส่ในฟาร์มไว้เป็นการเฉพาะ

รวมทั้งเข้มงวดกับการเคลื่อนย้ายสัตว์และมนุษย์ภายใต้การควบคุม หมูที่จัดหามาควรมาจากแหล่งผู้จัดหาที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรอง เนื่องจากยานพาหนะ อุปกรณ์ และคนอาจเป็นวัตถุพาหะนำเชื้อโรค ASF ได้เช่นกัน
 
จนถึงวันนี้ ผลจากที่บริษัทใหญ่จับมือช่วยกันให้ความรู้ด้านเทคนิควิชาการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคแก่ฟาร์มเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กในพื้นที่ต่างๆ ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนสามารถร่วมกันป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง
 
เป็นผลพวงให้เกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้สามารถเลี้ยงหมูให้รอดพ้นจากภาวะโรค สามารถมีหมูป้อนสู่ตลาดในช่วงนี้ ช่วยให้พอมีรายได้ชดเชยจากที่เคยประสบภาวะขาดทุนมาตลอด 3 ปี ความทุ่มเทของบริษัทใหญ่เหล่านี้เพียงเพื่อให้อุตสาหกรรมหมูทั้งหมดอยู่รอดได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ