“ทอท.” ปรับแผนฝ่า “โอมิครอน” ลุยไฟหารายได้-ไม่ทิ้งสายการบิน-ร้านค้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ทอท.” ปรับแผนฝ่า “โอมิครอน” ลุยไฟหารายได้-ไม่ทิ้งสายการบิน-ร้านค้า

Date Time: 23 ธ.ค. 2564 06:40 น.

Summary

  • “ทอท.” ประกาศแผนทำธุรกิจรับปีเสือไฟ ตั้งเป้าฝ่าวิกฤติโอมิครอนได้อย่างปลอดภัย พร้อมผงาดยืนบนลำแข้งตัวเอง หารายได้เพิ่มจากธุรกิจที่หลากหลาย และได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“ทอท.” ประกาศแผนทำธุรกิจรับปีเสือไฟ ตั้งเป้าฝ่าวิกฤติโอมิครอนได้อย่างปลอดภัย พร้อมผงาดยืนบนลำแข้งตัวเอง หารายได้เพิ่มจากธุรกิจที่หลากหลาย และได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่และสายการบินที่มาใช้บริการอย่างเต็มที่ ยกระดับแพลตฟอร์ม รุกให้บริการส่วนตัว–อีคอมเมิร์ซ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ถือเป็นปีท้าทายของอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวใหม่อย่างหนัก จะยืมจมูกคนอื่นหายใจเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ก่อนหน้านี้ ทอท.มีรายได้จากกิจการการบินเป็นหลัก คือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charge) ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charge)

“ทอท. ยังมีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน ประกอบด้วยรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ รายได้ค่าตอบแทน ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการ (Service Charges) จากการให้บริการรถลีมูซีน บริการที่จอดรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทต่างๆ แต่หลังจากเกิดโควิด-19 รายได้ที่ได้รับจากธุรกิจดังกล่าวไม่มีเข้ามา เนื่องจากร้านค้าต่างๆที่เช่าพื้นที่ของ ทอท.บางรายทนแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการ จากเดิมสัญญาการเช่าพื้นที่ทำธุรกิจ ของผู้ประกอบการและสายการบินที่มีมากถึง 2,500 สัญญา แต่ขณะนี้เลิกสัญญาไปแล้วกว่า 900 สัญญา

โอมิครอนฉุดการบินทรุดอีกรอบ

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ (non-aero) พบว่าปัจจุบันทั้ง 6 สนามบิน มีพื้นที่รวม 430,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ว่างไม่มีผู้เช่า 113,765 ตารางเมตร (26.41%) พื้นที่ผู้ประกอบการขอหยุดกิจการชั่วคราวจากโควิด-19 จำนวน 115,614 ตารางเมตร (26.84%) ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเหลือเพียง 46.76% ของพื้นที่ ทำให้ ทอท.ขาดสภาพคล่อง และต้องยื่นขอกู้จากสถาบันการเงินวงเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อมาเสริมสภาพคล่องที่สำคัญ ในขณะนี้สายการบินเริ่มกลับมาทำการบิน ทำให้ฝ่ายบริหารของ ทอท.ได้ประเมินว่า วงเงินกู้ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. เคยอนุมัติให้กู้ 25,000 ล้านบาท ณ วันนี้ อาจไม่จำเป็นที่ต้องกู้เต็มวงเงินทั้งหมด ขอรอดูสถานการณ์ด้านการบิน หลังจากที่รัฐเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร โดยยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องโอมิครอนที่แพร่ระบาดในหลายประเทศที่สหภาพยุโรป และจีน รวมทั้งต้องรอผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเชื้อโอมิครอนจะระบาดรุนแรงเหมือนเดลต้าหรือไม่ หากรุนแรง ทุกอย่างที่ดีขึ้นก็อาจจะกลับมาแย่ลง แต่ตรงกันข้ามหาก WHO ประกาศว่าไม่น่ากังวล ภาพรวมการเดินทาง การท่องเที่ยว ธุรกิจการบินก็จะเริ่มกลับคืนมา

นอกจากนี้ ก่อนมีโควิด-19 สนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.เมื่อปี 2562 มีผู้โดยสารมาใช้บริการ 142 ล้านคน/ปี ขณะที่ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 62 ล้านคน และในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 110-120 ล้านคน หรือ 70% ของผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2562 และปัญหาขณะนี้คือนักท่องเที่ยวยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ และรัฐบาลยังไม่เปิดประเทศ ให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยว ซึ่ง ทอท.คาดว่าธุรกิจการบินจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อจำนวนผู้โดยสารกลับมาที่ระดับ 50% จึงจะคุ้มทุน เพราะสายการบินจุดคุ้มทุน Load Factor ที่ 60-70%

ย้ำไม่ได้ทอดทิ้งสายการบิน–ร้านค้า

นายนิตินัยกล่าวว่า สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ได้ประเมินว่า ธุรกิจการบินจะฟื้นตัวและความต้องการการเดินทางจะกลับมาในปี 2567 ตนมองว่าแม้จะกลับมาฟื้นตัว แต่การทำธุรกิจการบิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน จะไม่เหมือนเดิม ทุกๆธุรกิจต้องมีการปรับเพื่อให้อยู่รอด

“ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสายการบินได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ที่อยู่ได้เพราะยังไม่ได้เปิดทำการบิน แต่ถ้าเปิดทำการบินก็มีต้นทุนเพิ่ม และต้องใช้เงินลงทุน ดังนั้น หากโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะแย่ลงอีก สายการบินจึงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน และ ทอท.ได้ช่วยเหลือสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบทั้งการลด/ยกเว้น ค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน ค่าเช่าสำนักงานและได้ขยายเวลาของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวไปจนถึงเดือน มี.ค.2566”

ขณะที่ ทอท.ก็ได้มีการปรับตัวเช่นกัน โดยเน้นพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เน้นหารายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน (Non Aero) เพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตจะดัน AOT Digital Platform รุกตลาดอีคอมเมิร์ซไปยังต่างประเทศ และกำลังหารือกับพันธมิตร เช่น จีน และฮ่องกง

ยกระดับแพลตฟอร์ม ทอท. 4 ด้าน

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม AOT Digital Platform จะแบ่งเป็น 4 ระบบคือ 1.การบริการและการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ (AOT Airports Application) แสดงข้อมูลท่าอากาศยานแบบ Real-time ช่วยวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ลดความแออัด ในท่าอากาศยานและพัฒนาธุรกิจใหม่ 2.การปฏิบัติการในท่าอากาศยาน (AOT Digital Operation Dashboard) รวบรวมข้อมูลและแสดงผลผ่าน Dash board ในการบริหารจัดการสนามบิน แสดงข้อมูลเรียลไทม์เพื่อใช้วิเคราะห์ ตัดสินใจ ทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ลดกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิ ภาพการใช้ทรัพยากร

3. การทำงานในสำนักงาน (AOT Digital Office) จะเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ผนวกการใช้งานระบบสำหรับติดตามสถานะการทำงาน และแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆให้พนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพจากการลดขั้นตอนและเวลาที่ใช้ในการทำงาน 4.การจัดการเขตปลอดอากร (AOT Digital Cargo) เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ เขตปลอดอากร ความปลอดภัยขั้นสูงในการขอเข้าพื้นที่เขตปลอดอากร ในรูปแบบการยืนยันตัวตน ผ่าน 2 ขั้นตอน โดยเชื่อมโยงการจัดการและติดตามสถานะการขนสินค้า และลดเวลากระบวนการทำงาน

“ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแพลตฟอร์มดังกล่าว 600,000 ราย ทอท.กำลังเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ให้แล้วเสร็จในกลางปีหน้า เช่น สามารถเช็กได้ว่าเที่ยวบินจะออกเวลาใด หากผู้โดยสารจะรับประทานอาหาร จะทันกับเวลาขึ้นเครื่องหรือไม่ หรือมีเสียงแจ้งเตือนกรณีที่จะรับกระเป๋าว่าขณะนี้อยู่ตรงจุดใดแล้วก่อนที่จะมาถึงสายพาน หรือสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ถนนข้าวสารมีตรงไหนบ้าง เป็นต้น”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ