ในยุค 4.0 ที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความสามารถในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงศักยภาพที่ว่า จึงได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ขึ้นบนพื้นที่กว่า 44 ไร่ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation-EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ.ได้คิดค้นและพัฒนาร่วมกับพันธมิตร เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพัฒนาเป็นท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำไปใช้งานจริงแล้วในพื้นที่ของ ปตท.สผ. เหล่านี้นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยลดของเสียเหลือทิ้งโดยเปลี่ยนให้เป็นวัสดุที่สร้างมูลค่า และมีประโยชน์ในการใช้งานอีกด้วย
ไม่เพียงสนับสนุนงานวิจัยด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ ปตท.สผ.ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการดำเนินงานของธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก โดยอาคารและพื้นที่ของ PTIC จะเป็นสนามทดลองเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานสะอาด ซึ่งจะมีการนำพลังงานจากหลังคาโซลาร์เซลล์มาหมุนเวียนใช้ การดำเนินโครงการการผลิตแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาหอกรองอากาศที่เดินเครื่องด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Air Purifier Tower) และถนนอัจฉริยะ (Solar Road) ซึ่งจะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนผิวถนน เป็นต้น
ภายใน PTIC จะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้นักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพ ปรับปรุงแก้ไขผลงาน ขยายผลจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบ ก่อนนำไปใช้งานจริง อาทิ อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production Research Facility) ศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ (Smart Facility/City Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (Future Energy Tech nology Research Center) และศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรม
เป็นทั้งสนามทดสอบงานวิจัยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม และเป็นสถานที่ที่พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีซึ่งคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันและความแข็ง แกร่งให้กับประเทศไทยที่จะก้าวไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง.