“คลัง” จ่อชงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เป็น “ของขวัญปี 2565” ให้กับ ประชาชน “อาคม” แย้มเตรียมเสนอเข้า ครม.พิจารณา 21 ธ.ค.นี้ หวังเพิ่มการ กระตุ้นใช้จ่ายอุปโภค–บริโภคในประเทศต่อเนื่อง ใช้แนวทางมาตรการลดหย่อนภาษีล่อใจคนมีกำลังซื้อ ลุ้นปลุกผีมาตรการ “ช็อปดีมีคืน” ยืดเวลา “คนละครึ่ง”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มเติม เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้ประชาชน ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยแพ็กเกจมาตรการทั้งหมดดังกล่าว คาดว่าจะ นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ โดยมาตรการหลักๆยังคงจะเน้นการประคองการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภค-บริโภคไม่ให้สะดุด โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมาเพื่อที่จะ นำมาแทนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก รวมทั้งอาจจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีอื่นๆออกมาเพิ่มเติม
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ของประชาชนในปี 2565 นี้ เราจะออกมา เพื่อช่วยการใช้จ่ายหลายโครงการ โดยเฉพาะกระตุ้นให้กลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ และอยากออกมาจับจ่ายใช้สอย และที่ผ่านมาโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ไม่ค่อยได้รับความนิยมประชาชน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะชื่อมาตรการ อะไร แต่เบื้องต้นจะเป็นมาตรการที่ได้รับการ ลดหย่อนภาษี ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 นั้น จะขอดูอัตราการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงนี้ก่อนว่าปรับดีขึ้นมากน้อยอย่างไร เนื่องจากพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง”
นายอาคมกล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ขณะนี้รัฐบาลยังคงเข้มงวดมาตรการสาธารณสุขเพื่อให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ทำให้กิจกรรมในช่วงเทศกาลส่งท้ายปลายปี สะดุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังต้องติดตามความรุนแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่าในต้นปี 2565 จะมีการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่แน่นอน โดยเป็นการทบทวนผู้ได้รับสิทธิ และเพื่อเป็นการดูแลประชาชนระดับฐานราก รวมทั้งจะมีความชัดเจน ในนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าออกมาด้วย
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 นั้น รมว.คลัง เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% ขณะที่ในปี 66 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จะทำให้มีแรงฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิดครั้งนี้ ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนานกว่าวิกฤติอื่นๆ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ เนื่องจากเป็นวิกฤติที่สร้างผลกระทบทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนฐานราก สังคมส่วนรวม ภาคธุรกิจ ซึ่งต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่
“ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ 1.การส่งออกที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง 2.เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบประมาณ 1 ล้านล้านบาท มาจากเม็ดเงินจากงบประมาณลงทุนของภาครัฐ 600,000 ล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 300,000 ล้านบาท และอีก 100,000 ล้านบาท จะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม ขณะนี้เหลืออยู่ 200,000 ล้านบาท 3.การลงทุนภาคเอกชน โดยปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้สูงสุด เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และ 4.การบริโภค โดยรัฐจะเข้าไปสร้างความมั่นใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่าย”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ก่อนหน้าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ได้ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงการคลังต่ออายุโครงการคนละครึ่งในเฟส 3 ที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ และนำคนละ ครึ่งเฟส 4 มาใช้ในปีหน้า รวมทั้งรื้อฟื้นมาตรการช็อปดีมีคืน ซึ่งเคยเป็นที่นิยมของประชาชนกลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้คาดว่าหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่จะนำมาตรการช็อปดีมีคืน
มาปรับปรุงให้ตอบโจทย์กับยุคโควิดมากขึ้น
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมที่จะปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลและประเมินผลกระทบที่จะเกิดเพิ่มเติม โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อปรับประมาณการเศรษฐกิจ โดยยังคงคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 0.7% ขณะที่ปี 65 นี้จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นอย่างชัดเจน แต่ยังมีความเปราะบาง โดยจะขยายตัวได้ 3.9% โดยปัจจัยที่ต้องจับตา แนวโน้มการใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน กระแสกรีนอีโคโนมี การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัส.