ล้มประชุม “กนศ.” 8 ธ.ค.นี้ หลัง “ดอน” เรียกถกด่วน หวังหารือเตรียมเสนอ “ครม.” ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งๆที่ไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อม ไม่มีกรอบเจรจา และไม่รอผลประชุมเคลียร์ประเด็นขัดแย้งกับเอ็นจีโอ-เอกชน 20 ธ.ค.นี้ ย้ำเหตุล้มประชุม เอกชน-เอ็นจีโอ ต้องการให้คุย 20 ธ.ค.นี้ ก่อนเอาผลให้ “กนศ.-ครม.” เคาะเข้าร่วมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เรียกประชุม กนศ.ด่วนวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อหารือถึงเรื่องที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ธ.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบ ให้ไทยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หลังจากการประชุม ครม.สัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายดอน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เร่งรัดดำเนินการ
ทั้งนี้ เพราะคาดว่าคณะทำงานรับสมาชิกใหม่ของซีพีทีพีพีจะพิจารณารับสมาชิกใหม่ช่วงไตรมาสแรกปี 65 หลังจากสหราชอาณาจักร จีน และไต้หวัน ได้แสดงเจตจำนงเข้าร่วมแล้ว ส่งผลให้ไทยต้องเร่งส่งหนังสือภายในสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความกังวลของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) และภาคเกษตรว่าไทยยังไม่พร้อมรับการแข่งขัน ที่มีมาตรฐานสูง และยังมีจุดอ่อน ที่จะทำให้เสียเปรียบ มากกว่าได้ประโยชน์ และคัดค้านการเข้าร่วมจนกว่าไทยจะพร้อมอย่างแท้จริงก่อน ที่สำคัญ กนศ.ยังไม่ได้หารือกับเอ็นจีโอและภาคเอกชน เพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะสมัครเป็นสมาชิก ทั้งๆที่นัดหารือกันแล้ววันที่ 20 ธ.ค.นี้
นอกจากนี้ ไทยยังไม่ได้ดำเนินการหลายด้าน โดยเฉพาะดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการศึกษาข้อดีข้อเสียของซีพีทีพีพี วุฒิสภา ที่เสนอให้ไทยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเป็นสมาชิก ทั้งแก้ไขกฎหมาย และการช่วยเหลือภาคเอกชน เกษตรกร ปรับตัวให้พร้อมรับการแข่งขัน อีกทั้งขณะนี้ ไทยยังไม่มีกรอบการเจรจาที่จะใช้เป็นแนวทางเจรจาต่อรองกับสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ เพราะตามมติ กนศ.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 ให้จัดทำกรอบเจรจาโดยยึดข้อมูลของ 24 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ หน่วยงานต่างๆยังส่งข้อมูลให้ กนศ.ไม่ครบถ้วน จึงยังจัดทำกรอบเจรจาไม่ได้
ขณะเดียวกัน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงประเด็นต่างๆ ตามที่องค์กรผู้บริโภค และภาคประชาสังคมสอบถามมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการชี้แจงใดๆ แม้มติ กนศ.วันที่ 18 ต.ค.64 ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ และได้เสนอให้นายดอนพิจารณาแล้ว แต่นายดอนยังไม่ได้พิจารณา ส่งผลให้คณะทำงานยังไม่สามารถสื่อสารข้อมูลใดๆเกี่ยวกับซีพีทีพีพีต่อสาธารณะได้
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การเร่งรัดเข้าเป็นสมาชิก ทั้งๆที่ไทยยังไม่ได้ดำเนินการต่างๆให้เสร็จเป็นเพราะบางประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี ที่เข้ามาลงทุนในไทย ล็อบบี้ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ เพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเองจากการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก ส่งผลให้เป็นรัฐบาลไทยเร่งรัดเข้าร่วมให้ได้ โดยอ้างว่าส่งหนังสือไปก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะจัดทำกรอบเจรจา สามารถดำเนินการในภายหลังได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า จะประชุม กนศ.ด่วนวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ทำให้ภาคเอกชนโทรศัพท์ถึงนายดอน เพื่อยับยั้งการประชุม และขอให้รอผลการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.นี้ก่อน และนำผลสรุปมาเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ส่งผลให้การประชุม กนศ.วันที่ 8 ธ.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไป
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้งกัน เช่น ซีพีทีพีพีบังคับให้สมาชิกต้องเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ยูพอฟ 1991) ซึ่งจะส่งผลต่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ กระทบต่อเกษตรกร, การจัดซื้อโดยรัฐ ที่จะเปิดให้สมาชิกเข้ามาประมูลงานของหน่วยงานภาครัฐแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย, ลดอำนาจของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการจัดซื้อยา, ข้อกังวลเกี่ยวกับการผูกขาดยา รวมถึงสิทธิบัตรยา ที่อาจทำให้ราคายาสูงขึ้น, การจัดทำมาตรฐานแรงงานต่างด้าว โดยเปิดให้แรงงานต่างด้าวจัดตั้งสมาพันธ์แรงงานต่างด้าวในไทย, ธุรกิจบริการหลายสาขาที่ยังพร้อมแข่งขัน เช่น โลจิสติกส์ ขนส่งทางบก ก่อสร้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลศึกษาล่าสุด พบว่า ไทยเสียประโยชน์มากกว่าได้ โดยภาคเกษตร อาจถูกสินค้าจากแคนาดา และเม็กซิโก ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกเข้ามาตีตลาด เช่น ข้าวสาลี ธัญพืช เนื้อหมู ไก่ นมและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่อาจต้องเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหว เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ขณะที่ภาคบริการ หลายสาขายังไม่พร้อม อีกทั้งรัฐวิสาหกิจไทย ต้องแข่งขันกับเอกชนจากประเทศสมาชิก เป็นต้น.