น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. และข้อมูลเร็วเดือน พ.ย.มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยลดวันกักตัวลง การส่งออกขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการซื้อในต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ และการผลิตปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ต.ค.ชะลอลง
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธปท.ยังคงจับตาความเสี่ยงใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความเร็วในการระบาด และผลกระทบจากการใช้มาตรการดูแลการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า รัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้มาตรการเข้มข้นมากแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบของโอมิครอน แต่มองว่า ในปีนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ทำให้ไม่กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีนี้มากนัก โดยอัตราการขยายตัวที่ 0.7% ในปีนี้คิดว่าน่าจะทำได้ และภาพรวมอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ได้เล็กน้อย
สำหรับความเสี่ยงที่ 2 ที่ ธปท.จับตาคือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต โดยเฉพาะเซมิคอน ดักเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ ที่จะกระทบต่อการส่งออกในช่วงต่อไป ขณะที่ความเสี่ยงที่ 3 ที่ต้องจับตาคือ ราคาน้ำมันดิบโลกและวัตถุดิบบางประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยในการประชุมนโยบายการเงิน ธปท.ปลายเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งจะประเมินผลกระทบจากโอมิครอนอีกครั้ง
“ในส่วนที่มีความเป็นห่วงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่ในเดือน ต.ค.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 2.38% นั้น ธปท.ยังมองว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเกิดขึ้นจากราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะเดียวกัน จากการติดตามผลกระทบของเงินเฟ้อต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าพบว่า ในประเทศผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้ามากนัก เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศยังเปราะบาง ไม่สามารถที่จะรับการปรับราคาสินค้าได้”.