ไทยศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบงก์รัฐปล่อยกู้ซื้อ-หาวิธีทำให้ราคาถูกลง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบงก์รัฐปล่อยกู้ซื้อ-หาวิธีทำให้ราคาถูกลง

Date Time: 26 พ.ย. 2564 06:30 น.

Summary

  • คลัง-พลังงาน-กฟผ. เดินหน้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนงานราชการ นำร่องติดตั้งสถานีชาร์จไฟรถยนต์เชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการแห่งแรกของไทยที่กระทรวงการคลัง “อาคม” เร่งดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

คลัง-พลังงาน-กฟผ. เดินหน้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนงานราชการ นำร่องติดตั้งสถานีชาร์จไฟรถยนต์เชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการแห่งแรกของไทยที่กระทรวงการคลัง “อาคม” เร่งดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมหากลไกทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง เล็งตั้งกองทุน พร้อมหนุนแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและลงทุนสถานีชาร์จ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยหลังการเป็นประธานพิธีเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า Elex By EGAT สาขากระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ และเป็นการนำร่องการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการแห่งแรกของไทยด้วย ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายให้ส่วนงานราชการที่จะจัดซื้อหรือเช่ารถยนต์ใหม่แทนรถยนต์เดิมนั้น ให้เน้นรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก นอกจากเป็นการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังนอกจากจะสนับสนุนให้รถยนต์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลังเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังจะใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตเข้าไปช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์จากการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไฟฟ้า แต่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ซึ่งต้องพิจารณาตั้งแต่กระบวนการผลิต แบตเตอรี่ สถานีประจุไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย จากปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่แล้ว โดยเฉพาะรถกระบะ ดังนั้นก็ต้องหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อผลิตรถไฟฟ้าที่เป็นรถกระบะเพื่อส่งออกได้ด้วย

ส่วนเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีราคาสูง อาจไม่จูงใจให้คนมาใช้ อาจต้องใช้กลไกของสถาบันการเงินของรัฐ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้มีใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนสถานีชาร์จ เพื่อให้กระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น “กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าสนับสนุนอย่างไร เพื่อทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ซึ่งอาจเป็นลักษณะกองทุน หรือรูปแบบอื่น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ ส่วนจะเห็นความชัดเจนได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี”

ด้านนางนันธิกา ทังสุพาณิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EleX By EGAT เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมี 15 สถานีทั่วประเทศ มีในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่เล่นกีฬา และอยู่ระหว่างขยายสถานีบริการไปยังภาคขนส่ง

คาดว่าจนถึงปี 2565 จะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าราว 50 แห่ง และขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการใช้และปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านและการกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนประเทศสู่ Carbon Neutrality พร้อมร่วมสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทยด้วย ล่าสุด กฟผ.ได้สร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ใช้เงินลงทุน 500,000 บาท ขณะที่ค่าบริการชาร์จไฟฟ้าจะอยู่ที่ 7-9 บาทต่อหน่วย ส่วนการชาร์จตามบ้านจะใช้เงินลงทุนหลักหมื่น และอุปกรณ์ต่างๆ จะมาพร้อมกับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องลงทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ