ครม.อนุมัติสินเชื่อ 5,000 ล้าน ปล่อยกู้รายละ 3 แสนบาท กู้วิกฤติ “คนตัวเล็ก”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.อนุมัติสินเชื่อ 5,000 ล้าน ปล่อยกู้รายละ 3 แสนบาท กู้วิกฤติ “คนตัวเล็ก”

Date Time: 24 พ.ย. 2564 06:44 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ 5,000 ล้านบาท ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 3.99% ช่วยผู้ประกอบการงานช่างทุกประเภท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.เห็นชอบสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ 5,000 ล้านบาท ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 3.99% ช่วยผู้ประกอบการงานช่างทุกประเภท รวมถึงช่างเสริมสวย คนขายสินค้าออนไลน์ คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถบรรทุก พร้อมปรับเงื่อนไขโครงการรัฐช่วยจ่ายเงินเดือน ขยายเวลาลงทะเบียนรอบ 2 ตั้งแต่ 21 พ.ย.–20 ธ.ค.นี้ ยกเว้นนายจ้างเอสเอ็มอีไม่ต้องจ่ายภาษี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินจะจัดสินเชื่อ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เริ่มให้กู้หลัง ครม.อนุมัติ จนถึง วันที่ 30 ก.ย.2565 มีเป้าหมาย 60,000 คน ในกลุ่มผู้เริ่มประกอบอาชีพ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดย่อม ผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยให้กู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี มีระยะเวลากู้ยืม 5 ปี ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และกรณีมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้น รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติ โดยกำหนดวงเงินเบื้องต้น 1,500 ล้านบาท

“กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ที่ผ่านการอบรมอาชีพช่างทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น ผู้ประกอบการเสริมสวย หรือตัดผม ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศ นียบัตรหรือวุฒิบัตรผ่านการอบรมจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน หรือเอกสารอื่นๆตามประเภทอาชีพ หรือมีประสบการณ์การประกอบอาชีพ และรวมถึงผู้ประกอบการขนาดย่อม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ ส่วนผู้ขับขี่รถสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ หรือเอกสารอื่นๆตามประเภทของอาชีพ

นายธนกรยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมาย กรณีการเปิดลงทะเบียนเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 15 ล้านคน อีกนัยคือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นว่าการดำเนินการเรื่องนี้ได้ทำมาเป็นระยะตามงบประมาณ ซึ่งข้อมูลปัจจุบันมีการลงรายละเอียดมากขึ้น และคนที่ยังเข้าไม่ถึงในระยะแรกก็มีอยู่มาก กรอบวงเงินและกิจกรรมช่วยเหลือมีมากขึ้น ซึ่งต้องปรับเพิ่มต่อเนื่อง ไม่ได้หมายความว่าคนรายได้น้อยจะหมดไป การทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการหาทางให้ดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะความพอเพียงเท่านั้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ยังเห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินที่รัฐจ่ายให้นายจ้างเพื่อจูงใจนายจ้างเข้าร่วมโครงการ และหมดความกังวลว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีจากเงินส่วนนี้ โดย ครม.อนุมัติขยายเวลาการลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-20 ธ.ค.2564 จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย ไม่เกิน 200 คน ระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค.2564 และ ม.ค.2565) จ่ายคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเงินหลังจากวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากรัฐยังจ่ายเงินอุดหนุนยังไม่ครบถ้วนอีกให้จ่ายเงินเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธิ์ที่นายจ้างพึงได้รับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.-10 พ.ย.2564 นายจ้างเข้าร่วมโครงการ 127,613 แห่ง คิดเป็น 32.34% ของเป้าหมายนายจ้าง ลูกจ้างสัญชาติไทย 2,062,356 คน คิดเป็น 51.12% ของเป้าหมาย ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 47,742 แห่ง คิดเป็น 37.41% ของนายจ้างที่ลงทะเบียน ที่เหลืออยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่อนุมัติเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสจำนวน 30 แห่ง เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบ ประมาณ 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท โดยการประเมินผลโครงการที่ผ่านมาในโรงเรียน 12 แห่งที่นำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพระยะเวลา 1 ปี พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และกลับคืนถิ่นภูมิภาค 100% โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัวสามารถทำงานประกอบอาชีพได้ มีเป้าหมาย 900 คนต่อปี เป็นเวลา 10 ปี รวม 9,000 คน โดยเข้ารับการศึกษาด้านอาชีพ 1 ปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ