กสทช.จับตาข้อหาผูกขาด ซีพี-เทเลนอร์ ชี้แจงข่าวทรู-ดีแทค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กสทช.จับตาข้อหาผูกขาด ซีพี-เทเลนอร์ ชี้แจงข่าวทรู-ดีแทค

Date Time: 22 พ.ย. 2564 06:10 น.

Summary

  • กสทช.สั่งฝ่ายกฎหมายศึกษากรณีทรู-ดีแทคควบรวมกิจการ จับตาเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดผูกขาดหรือไม่ หลังฐานลูกค้ารวมกันขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 “ซิคเว่-ศุภชัย” จับมือแถลงวันนี้ ร่วมเผยวิสัยทัศน์เป็นมาก

Latest

อ่านเกม กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขาลง จับตาหนี้ครัวเรือน - สินเชื่อหดตัว “จุดเปลี่ยน”

กสทช.สั่งฝ่ายกฎหมายศึกษากรณีทรู-ดีแทคควบรวมกิจการ จับตาเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดผูกขาดหรือไม่ หลังฐานลูกค้ารวมกันขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 “ซิคเว่-ศุภชัย” จับมือแถลงวันนี้ ร่วมเผยวิสัยทัศน์เป็นมากกว่าค่ายมือถือ

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 22 พ.ย.นี้ กสทช.ได้เรียกบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มาชี้แจงกรณีการควบรวบ กิจการเพื่อความชัดเจนในการกำกับดูแล ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย ไปศึกษาข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคต่อไป

“เชื่อว่าการควบรวบกิจการของทรูและดีแทค มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างแน่นอน เพราะจากผู้ให้บริการ 3 ราย เหลือ 2 ราย ทำให้การแข่งขันลดลง ขณะที่ทรูและดีแทคเมื่อผนวกฐานลูกค้ารวมกัน กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ส่วนการควบรวมกันจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือครอบงำตลาดหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องรอฝ่ายกฎหมายศึกษารายละเอียดการควบรวบที่ชัดเจนอีกครั้ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 กลุ่มเทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์นอร์เวย์ว่า กำลังอยู่ระหว่างเจรจาถึงแนวทางการควบรวมกิจการมือถือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู นับเป็นการสิ้นสุดกระแสข่าวหลุดที่ว่าทรูจะเข้าซื้อกิจการดีแทค ซึ่งเกิดเป็นกระแสออกมาเป็นระยะๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในวันที่ 22 พ.ย.เช่นกัน กลุ่มเทเลนอร์และซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นดีแทคและทรูตามลำดับ จะออกแถลงการณ์ร่วมกันถึงแนวทางการควบรวมกิจการดังกล่าว ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากยังมีขั้นตอนอีกมากมาย รวมทั้งการตรวจสอบเงื่อนไข ข้อกฎหมายของการควบรวมกิจการระหว่างกัน และในช่วงบ่ายวันเดียวกันจะมีการแถลงข่าวร่วมระหว่างนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารซีพีด้วย โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดทรูยังมีมติอนุมัติการควบรวมกิจการดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แนวทางการควบรวมกิจการดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานที่เทเลนอร์และซีพีตกลงร่วมกันว่าจะเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียม (Equal Partnership) และเดินหน้าประกอบธุรกิจไปตามปกติ (Business as Usual) โดยในการแถลงข่าววันนี้ (22 พ.ย.) นายศุภชัย และนายซิคเว่ จะร่วมกันประกาศวิสัยทัศน์ความร่วมมือที่ไปไกลกว่าการให้บริการมือถือแบบเดิม โดยมองไปถึงการขยับเข้าไปแข่งขันในธุรกิจใหม่ๆแห่งโลกอนาคต เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค พบว่า เทเลนอร์ เอเชีย ถือหุ้นสูงสุดเป็นอันดับแรกที่ 45.87% รองลงมาเป็นไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ 19.18% ไทยเอ็นวีดีอาร์ 8.50% บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) 5.69% และสำนักงานประกันสังคม 3.78% ส่วนบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ถือหุ้นใหญ่คือซีพี ถือในสัดส่วน 17.8% รองลงมาเป็นไชน่า โมบายล์ 13.47% USB AG ฮ่องกง 9.19% ไทยเอ็นวีดีอาร์ 5.50% และไชน่าโมบายอินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง 4.53%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ