ททท.คาดลอยกระทงเกิดรายได้หมุนเวียน 1,400 ล้านบาท บรรยากาศดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ไม่เท่าปี 2562 คนไทยยังกังวลเกิดคลัสเตอร์ติดเชื้อใหม่ ททท.สนับสนุนจัดสองงานในกรุงเทพฯ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปี 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย. คาดว่าจะมีจำนวนผู้มา เยี่ยมเยือนคนไทยเดินทางประมาณ 551,700 คน/ครั้ง และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 1,400 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 24% ทั้งนี้ ได้คาดการณ์อยู่บนมาตรการการแบ่งระดับพื้นที่ตามสถานการณ์และจำนวนคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
“ททท.คาดว่าภาพรวมบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงวันลอยกระทงปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่คึกคักมากนักเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากปีนี้ยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถจัดกิจกรรมลอยกระทงตามประเพณีได้ เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมประเพณีอันทรงคุณค่า โดยอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบ Universal Prevention พร้อมกับงดการจำหน่ายและจุดประทัด เล่นดอกไม้ไฟหรือพลุ”
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ยังคงกังวล กลัวการติดเชื้อโควิด-19 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19 ของสวนดุสิตโพล ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยส่วนใหญ่หรือ 60.04% กังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ รองลงมา 52.29% คิดว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สืบทอดประเพณีอันดีงาม และ 50% คิดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
สำหรับบรรยากาศการเดินทางในพื้นที่ที่ ททท.ให้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การจัดงาน มี “เทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2564” ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยยึดหลักวิถีปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ลดระยะเวลาการจัดงานและกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาด ซึ่ง ททท.สนับสนุนจำนวน 2 งานคือ “ICONSIAM A Magical Loy Krathong Upon The Chao Phraya River มหัศจรรย์เทศกาลลอยกระทงบนแม่น้ำเจ้าพระยา” และ “River Festival 2021 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 7” เพื่อประชาสัมพันธ์งานประเพณีที่สำคัญของประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ คุณค่าเทศกาลประเพณีลอยกระทงที่สวยงามผ่านสายน้ำและวิถีชีวิตคนไทย
ทั้งนี้ พบว่าคนไทยบางส่วนเลือกที่จะลอยกระทงทางออนไลน์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากสวนดุสิตโพล ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย. ซึ่งระบุว่า 33.50% สนใจลอยกระทงออนไลน์ เนื่องจากกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยบางกลุ่มให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมงานลอยกระทง โดยผลจากกูเกิลเทรนด์ส (Google Trends) ระหว่างวันที่ 9-16 พ.ย. พบว่าในช่วง 7 วัน คำว่า “ลอยกระทงที่ไหนดี” มีปริมาณการค้นหาสูงขึ้น โดยพบว่า 5 อันดับของคนที่ค้นหา เป็นคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม) และชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ค้นหาสถานที่จัดงานในจังหวัดของตนเอง และจังหวัดใกล้ๆ อย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี พัทยา (ชลบุรี) ทำให้คาดว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมน่าจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่า ทั้งนี้ การจัดงานในกรุงเทพฯ ปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนคนไทยประมาณ 26,800 คน/ครั้ง มีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 91 ล้านบาท
ขณะที่พื้นที่เอกลักษณ์ของเทศกาลลอยกระทงและพื้นที่ไฮไลต์ของคนไทยจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย และพระนคร ศรีอยุธยา แม้ว่าบางพื้นที่จะยังคงพบการแพร่ระบาด แต่สามารถจัดกิจกรรมได้โดยอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ลดระยะเวลาการจัดงาน จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานในแต่ละรอบ และงดกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาด ประกอบกับการจัดงานทั้ง 4 พื้นที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของนักท่องเที่ยว และเป็นวันศุกร์ซึ่งติดกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงคาดว่าบรรยากาศการเดินทางเข้าพื้นที่ค่อนข้างคึกคักกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยมีจำนวนคนไทยเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว 83,000 คน/ครั้ง มีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 440 ล้านบาท.