สนค.ยอมรับคนไทยขวัญผวาที่ต้องเผชิญกับราคาค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น เหตุราคาสินค้าและบริการสำคัญในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้จ่ายทุกๆวัน มีสัดส่วนทำให้การใช้จ่ายมากขึ้น อาทิ อาหารที่บริโภคทั้งในและนอกบ้าน ราคาน้ำมัน ค่าโดยสารสาธารณะ แม้สินค้าอื่นๆมีราคาลดลง ส่วนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยังไม่น่าวิตก พร้อมเสนอแนวทางลดค่าครองชีพ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าครองชีพขณะนี้ว่า การที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ไม่สูงมากนัก มาจากหลายสาเหตุ เช่น ค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และประชาชนใช้จ่ายเป็นประจำสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ทั้งอาหารสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง รวมถึงน้ำมัน และค่าโดยสารสาธารณะ การสูงขึ้นของราคากลุ่มนี้แม้ไม่มากนัก และมีสินค้าอื่นๆที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญทุกวัน จึงอาจทำให้รู้สึกว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่ สนค.ติดตามพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยพบว่า ปัจจุบันแต่ละเดือนคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 17,000 บาท โดยเดือน ต.ค. มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,143 บาท โดยสัดส่วน 40.38% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือ 6,922 บาท เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม ฯลฯ รองลงมา 23.47% หรือ 4,023 บาท เป็นค่าพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต) อีก 22.62% เป็นค่าเช่าบ้าน
“เมื่อราคาอาหาร น้ำมัน ค่าโดยสารสาธารณะ ที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ และเป็นสิ่งที่ต้องใช้จ่ายทุกวัน ปรับเพิ่มขึ้น คนไทยจึงรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากประชาชนมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ แพ็กเกจอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทั้งๆที่ราคาสินค้าและบริการต่อหน่วยไม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้มีรายรับไม่พอกับรายจ่าย และกำลังซื้อลดลง คาดว่าเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน แต่ราคาอาหารสดน่าจะลดลง
“การติดตามของ สนค.ในรอบปีนี้เทียบกับปี 2563 พบว่า สินค้าและบริการ 430 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อที่มีราคาสูงขึ้น 226 รายการ ราคาลดลง 133 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 71 รายการ โดยสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงบ่อย คือ มีทั้งขึ้น และลง ได้แก่ อาหารสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิต และความต้องการบริโภค, สินค้าจำเป็น เช่น ของใช้ส่วนบุคคล ราคาเปลี่ยนแปลงตามการโปรโมชัน รวมถึงกลุ่มที่ราคาลดลงจากนโยบายรัฐ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าธรรมเนียมการศึกษา”
นายรณรงค์กล่าวต่อถึงกรณีที่ราคาสุกรเพิ่มขึ้นว่า แม้ราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ราคาขายปลีกเนื้อสุกรลดลงต่อเนื่องระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง และเพียงพอ ขณะที่ผักสด เช่น ผักชี ที่ราคาสูงขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละกว่า 200 บาท เป็นเพราะพื้นที่เพาะปลูกมีน้ำท่วม ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง เมื่อน้ำท่วมคลี่คลาย เกษตรกรเพาะปลูกใหม่ได้ทันที แต่ราคาอาจปรับขึ้นได้อีกตามความต้องการ ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศที่จะส่งผลดีให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่ราคาสูงขึ้น เป็นเพราะผลปาล์มสด และน้ำมันปาล์มดิบราคาสูงขึ้น จากผลผลิตของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศผู้ผลิตหลักเข้าสู่ตลาดลดลง เพราะผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมากขึ้น คาดว่าราคาจะขยับขึ้นได้อีก เพราะขณะนี้ผลผลิตออกน้อยแล้ว
“สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นย่อมกระทบต่อค่าครองชีพ แต่กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการลดค่าครองชีพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อเพิ่มกำลังซื้อประชาชน ส่วนเนื้อสุกรหากมีปริมาณไม่เพียงพอจะประสานผู้เลี้ยงนำเนื้อสุกรชำแหละเข้าไปเพิ่มในตลาด หรือจัดธงฟ้าราคาถูก รวมถึงจัดรถ Mobile ส่งผัก และสินค้าที่จำเป็น ตระเวนขายตรงสู่ประชาชน และขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดให้ขายราคาไม่เกินต้นทุน คาดว่าราคาจะเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วๆนี้”
สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ นายรณรงค์ กล่าวว่าเดือน ต.ค.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (ราคาสินค้าและบริการ) เทียบกับเดือน ต.ค.2563 สูงขึ้นถึง 2.38% เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันสูงขึ้นตามราคาตลาดโลกเป็นสำคัญ แต่รัฐบาลมีมาตรการดูแล คาดว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากอิทธิพลของราคาน้ำมันจะลดลง โดยการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นทำให้กำลังซื้อประชาชนลดลง เช่น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% หมายถึงเดิมสินค้าราคา 100 บาท ราคาจะสูงขึ้นอีก 2 บาท ประชาชนจึงต้องใช้เงิน 102 บาทซื้อสินค้าชิ้นเดิม
“เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม มีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดว่า เงินเฟ้อของไทยปีนี้ยังอยู่ในช่วง 1.0-3.0% ที่เป็นกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด แสดงให้เห็นว่าความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับปกติ มีเสถียรภาพ เหมาะสมและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และไม่น่ากังวล”
ทั้งนี้ สนค.มีข้อเสนอแนะภาครัฐในการดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน โดยระยะสั้น เสนอให้หน่วยงานรัฐเดินหน้าโครงการธงฟ้า/พาณิชย์ลดราคา, คนละครึ่ง, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค และกำกับดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสม ส่วนระยะยาว ศึกษาข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ดำเนินนโยบายที่ช่วยลดความเสี่ยง และต้นทุนที่ไม่จำเป็น, สร้างช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าของผู้ผลิตในท้องถิ่น, ใช้นโยบายเพิ่มการแข่งขัน และลดการผูกขาดสินค้า เป็นต้น.