คลังวุ่นหา 7.6 หมื่นล้านบาทจ่ายชาวนา รัฐอ่วมส่วนต่างประกันข้าวพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังวุ่นหา 7.6 หมื่นล้านบาทจ่ายชาวนา รัฐอ่วมส่วนต่างประกันข้าวพุ่ง

Date Time: 10 พ.ย. 2564 06:12 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติจ่ายประกันราคาข้าวงวดแรก 13,000 ล้านบาท เกษตรได้รับแล้วตั้งแต่ 9 พ.ย. สูงสุดกว่า 69,000 บาทต่อราย เหตุราคาข้าวปีนี้ตกต่ำหนัก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ครม.อนุมัติจ่ายประกันราคาข้าวงวดแรก 13,000 ล้านบาท เกษตรได้รับแล้วตั้งแต่ 9 พ.ย. สูงสุดกว่า 69,000 บาทต่อราย เหตุราคาข้าวปีนี้ตกต่ำหนัก “คลัง-สำนักงบประมาณ” หัวหมุนเร่งหาเงินจ่ายประกันราคาข้าวเพิ่มอีก 31 งวด กว่า 76,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 เดือนนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการหารือและได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ไปเร่งหารือเพื่อจัดสรรงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการประกันราคาข้าว ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการประกันราคาข้าววงเงินรวม 89,000 ล้านบาท โดยงวดแรก ครม.ได้อนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายให้เกษตรกรแล้ว 13,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจ่ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้วงเงินที่กระทรวงการคลังต้องหาเพิ่มเพื่อนำมาจ่ายเงินค่าประกันราคาข้าวจำนวน 76,000 ล้านบาท

“ส่วนจะใช้เงินจากแหล่งใด จะต้องตั้งงบกลางหรือไม่ ต้องรอผลการหารือกับสำนักงบประมาณให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะมีคำตอบ รวมถึงต้องหารือ เรื่องของกรอบวินัยการคลังตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดกรอบหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย”

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การดำเนินโครงการประกันราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ถือเป็นผลงานของรัฐบาล ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นการดำเนินการของรัฐบาล ส่วนการหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆก็ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ดังนั้นไม่ว่าใครจะได้หน้าหรือไม่ได้หน้า กระทรวงการคลังก็ต้องหาเงินมาเพื่อช่วยเกษตรกร เพราะเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ

“ในส่วนตัวแล้วระบบประกันราคาข้าวแม้จะเป็นการช่วยเกษตรกรแล้ว แต่เป็นการทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และการช่วยเหลือไม่รู้จะจบหรือสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือการช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร การพัฒนาพันธุ์ข้าว การส่งเสริมการแปรรูปข้าวให้มีมูลค่า แปรรูปเป็นเมนูอาหารยอดนิยม ช่วยยกระดับเกษตรกรอย่างยั่งยืน”

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 9 พ.ย. รัฐจะจ่ายต่อเนื่องในงวดต่อๆไปรวมทั้งหมดมี 33 งวด โดยงวดที่ 2 จะจ่ายในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 31 งวดนั้นที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการภาพรวมที่ต้องการให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะใช้วงเงินรวมเท่าไหร่ในแต่ละงวดนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ที่ประกัน

“ตัวอย่างเช่น ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้อยู่ที่ตันละ 10,000 บาท ต้องเอาไปลบด้วยราคาตลาดย้อนหลัง 7 วัน สมมติว่าราคาตลาดเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 8,000 บาท จะมีตัวเลขออกมาเป็น 2,000 บาท ซึ่งนี่คือวงเงินของแต่ละงวดที่รัฐต้องจ่ายให้เกษตรกร โดยตัวเลขตรงนี้จะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละงวดต่อไป”

ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่าจัดเงินในแต่ละงวด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ทำต้นเรื่องคาดการณ์ในภาพรวม แต่หลักใหญ่ คือต้องเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในปีที่ 3 โดยตอนนี้ราคาข้าวตกต่ำ จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนที่มากกว่าทุกปี โดยราคาข้าวจะต้องดูที่ราคาค่าความชื้นไม่เกิน 15% หรือข้าวแห้ง แต่ราคาที่บางฝ่ายพูดกันขณะนี้คือราคาข้าวเปียก ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้าวมาแล้วนำไปขายทันที ซึ่งมีความชื้นจะมากกว่า 15% จึงเอาราคานั้นเป็นมาตรฐานไม่ได้ โดยข้าวแห้ง ณ ปัจจุบันนี้ราคาเกวียนละ 7,500-7,800 บาท

ขณะเดียวกัน ครม.ยังให้ความเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน และตนได้กำชับกับ ธ.ก.ส.ให้เร่งดำเนินการส่วนนี้ อาทิ ช่วยโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวไว้ ไม่นำออกขาย เพื่อไม่กดราคาข้าวในตลาด ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% หรือหากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเกี่ยวข้าวได้แล้วเอาไปตากแห้ง ยังไม่ขาย เพื่อไม่ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดมากเกินไป รัฐบาลจะมีเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้โอนเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือก ตามโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเปลือกปี 64/65 งวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งการเก็บเกี่ยวไว้ก่อนวันที่ 15 ต.ค.64 ซึ่งงวดแรกนี้ เนื่องจากราคาข้าวลดลงมากจึงได้รับส่วนต่างสูง โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ได้สูงสุดรายละ 57,900.78 บาท, ข้าว เปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ สูงสุด 57,524 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี สูงสุด 26,303.25 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 58,038.6 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 69,399.52 บาท ขณะที่นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ธ.ก.ส.ได้โอนเงินส่วนต่างการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 ในวันที่ 9 พ.ย.แล้ว 530,842 ครัวเรือน วงเงิน 11,230.69 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ