ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังประสบปัญหาการจัดหางบประมาณ มาใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ฤดูการผลิต 64/65 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา 89,306 ล้านบาท เนื่องจากการก่อหนี้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและหน่วยงานอื่น จนมีหนี้สะสมใกล้เกินเพดานวินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือประมาณ 930,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณงวดแรกไปแล้ว 13,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังยังมีภาระที่ต้องเร่งหางบประมาณมาใช้ในประกันรายได้อีก 76,000 ล้านบาท และจะต้องรีบตัดสินใจโดยเร็ว เนื่องจากวงเงินก้อนแรกที่ ครม.อนุมัติไปนั้นคาดว่า จะเพียงพอต่อการใช้จ่ายชดเชยส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรได้ถึงเดือน พ.ย.นี้เท่านั้น เนื่องจากปีนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำทำให้ต้องหาเงินมาจ่ายชดเชยให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว ที่มีราคาส่วนต่างค่อนข้างมากเกินตันละ 4,000 บาท
ทั้งนี้ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจากนี้ไปกระทรวงการคลังจะแก้ปัญหาอย่างไร เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าโครงการประกันรายได้จะกำหนดเงื่อนไขตามเดิมไม่ปรับลดราคาประกันแม้ราคาข้าวในตลาดโลกจะดิ่งลง ดังนั้นอาจต้องรอดูว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะกล้าตัดสินใจขยายเพดานการก่อหนี้สะสมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ให้สูงกว่ากรอบ 30% ของงบประมาณประจำปีหรือไม่
โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถใช้แหล่งเงินทุน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการประกันไปได้ต่อ แต่อาจแลกด้วยผลกระทบต่อความน่าเชื่อของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้จัดทำขึ้นมาเอง หรือรัฐบาลอาจต้องหาแหล่งงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ เช่น งบประมาณกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท ตลอดจนการเกลี่ยงบจากส่วนอื่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ ครม.ได้อนุมัติวงเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดแรก 13,000 ล้านบาท จากจำนวนทั้งหมด 89,306 ล้านบาท และวงเงินที่เหลือนั้น กระทรวงพาณิชย์จะต้องไปดูว่า จะจัดการส่วนที่เหลือว่าจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆอย่างไร และใช้วงเงินแต่ละงวดเท่าไร ส่วนจะใช้งบประมาณจากส่วนใด เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 28 เกือบเต็มเพดานแล้วนั้น ก็จะต้องเข้าไปดูรายละเอียด.