นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือน ก.ย.64 ซึ่งจัดทำโดย สนค.พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทั้งการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว คลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และยังมาจากปัจจัยจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 42.1 เพิ่มขึ้นจาก 37.2 ในเดือน ส.ค.64 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 34.2 เพิ่มขึ้นจาก 29 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 47.4 เพิ่มจาก 42.1 ส่วนเมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 34.6 มาอยู่ที่ 39.6, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 38.1 มาอยู่ที่ 42.6, ภาคใต้ จาก 38.9 มาอยู่ที่ 42.9 และภาคเหนือ จาก 35.9 มาอยู่ที่ 39.7
หากจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่เพิ่มขึ้นมากสุด จาก 36.9 มาอยู่ที่ 43.6 รองลงมา คือ กลุ่มพนักงานเอกชนจาก 35.4 มาอยู่ที่ 40.8, กลุ่มเกษตรกร จาก 37.9 มาอยู่ที่ 42.5, กลุ่มพนักงานของรัฐ จาก 44.2 มาอยู่ที่ 48.0, กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จาก 32.3 มาอยู่ที่ 36.1, กลุ่มรับจ้างอิสระ จาก 35.5 มาอยู่ที่ 39.3 และกลุ่มนักศึกษา จาก 35.5 มาอยู่ที่ 37.4
“หากโควิด-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ได้โอนเงินรอบ 2 ไปแล้ว น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้”.