ราคาน้ำมันพุ่ง-สิ้นสุดมาตรการลดค่าน้ำ-ไฟฟ้า ดันเงินเฟ้อ ก.ย.64 พุ่งพรวด 1.68% สนค.ปรับเป้าเงินเฟ้อปีนี้ใหม่เป็น 0.8-1.2% ค่ากลาง 1% จากเดิม 0.7-1.7% ด้านกรมการค้าภายใน พบการจับจ่ายช่วงกินเจหดตัว 30-40% ถูกกระทบโควิด-คนซื้ออาหารปรุงสำเร็จเพิ่ม รับน้ำท่วมทำราคาผักแพงลิ่ว แจงแม้ราคาน้ำมันขึ้นแต่กระทบต้นทุนสินค้าไม่ถึง 1% ห้ามผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาขายเด็ดขาด
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย.64 ว่า เท่ากับ 101.21 เทียบกับเดือน ส.ค.64 เพิ่มขึ้น 1.59% ส่วนเทียบเดือน ก.ย.63 เพิ่มขึ้น 1.68% ขยายตัวอีกครั้งหลังจากติดลบ 0.02% ในเดือน ส.ค.64 ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 64 เพิ่มขึ้น 0.83% เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) ดัชนีอยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.64 และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.63 ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสูงถึง 32.44% ประกอบกับการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลตั้งแต่เดือน ส.ค.64 ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคใน-นอกบ้านสูงขึ้น ส่วนปัจจัยทอนเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นมาก คือ ราคาอาหารสดทรงตัว โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผัก-ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเทอม ที่เป็นผลจากมาตรการของรัฐที่ช่วยลดค่าเทอม ฯลฯ
“ในเดือน ก.ย.เงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเป็นหลัก คาดว่า ช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ราคาน้ำมันจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ สนค.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็นขยายตัว 0.8-1.2% หรือมีค่ากลางที่ 1% บวกลบ 0.2% จากการขึ้นภาษีบุหรี่ น้ำท่วม และเทศกาลกินเจ ราคาผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้รัฐมีอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แต่ไม่ได้อุดหนุนเบนซิน รวมถึงไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าต่ออีก คาดจะทำให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% และทั้งไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะเพิ่มได้ 1.4-1.8%”
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น คาดจะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยเดือน มี.ค.65 จากนั้นอิทธิพลของราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อจะลดลง โดยการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ใหม่เป็น 0.8-1.2% จากเดิม 0.7-1.7% อยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 0.7-1.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 65-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 31.5-32.5 บาทต่อเหรียญฯ
วันเดียวกัน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าช่วงก่อนเทศกาลกินเจปีนี้ หลังลงพื้นที่ตลาดสดยิ่งเจริญว่า จากการสอบถามผู้ค้าพบว่า การจับจ่ายใช้สอยเทศกาลกินเจปีนี้ลดลง 30-40% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับผู้บริโภคซื้ออาหารเจสำเร็จรูปมากขึ้น โดยราคาผักและผลไม้ส่วนใหญ่ราคาสูงกว่าเทศกาลกินเจปีที่แล้ว จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้การขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตมีปัญหา สินค้าเข้าสู่ตลาดน้อยลง ราคาสูงขึ้น แต่กรมได้แก้ไขปัญหาด้วยการประสานไปยังสมาคมตลาดสด สมาคมตลาดกลาง ให้เชื่อมโยงผักเข้าสู่ตลาดสดให้เพียงพอต่อความ ต้องการบริโภค โดยกรมจะช่วยเรื่องรถขนส่ง โดยช่วงที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงไปยัง จ.ชัยภูมิ ที่มีปัญหาน้ำท่วมแล้ว ขณะที่ราคาวัตถุดิบเจ เช่น เส้นหมี่ โปรตีนเกษตร เห็ดหอมทรงตัวเท่ากับปีก่อน และสินค้ามีเพียงพอ
สำหรับผลกระทบราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้นั้น กรมได้ติดตามดูแลว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอย่างไรบ้าง โดยจากการศึกษาพบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนผลิตสินค้าไม่ถึง 1% เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีผลกระทบต่อต้นทุนเพียง 0.007-0.3% สินค้าของใช้ประจำวันมีผลกระทบต่อต้นทุน 0.0017-0.14% เป็นต้น ซึ่งไม่มีผลทำให้ต้องปรับขึ้นราคาขายสินค้า และกรมยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเด็ดขาด
“ขอเตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้าพบมีการฝ่าฝืน จะใช้กฎหมายจัดการขั้นเด็ดขาดคือ จำคุก 7 ปี ปรับ 114,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”.