มั่นใจราคาน้ำมัน “เอาอยู่” ยังไม่ต้องลดภาษีช่วยชีวิต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มั่นใจราคาน้ำมัน “เอาอยู่” ยังไม่ต้องลดภาษีช่วยชีวิต

Date Time: 6 ต.ค. 2564 05:50 น.

Summary

  • รมว.คลังยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องลดภาษีน้ำมัน ขอรอดูมาตรการกดราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงานก่อน ย้ำเงินกองทุนน้ำมันที่ใช้อุดหนุนราคายังมีพอ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

รมว.คลังยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องลดภาษีน้ำมัน ขอรอดูมาตรการกดราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงานก่อน ย้ำเงินกองทุนน้ำมันที่ใช้อุดหนุนราคายังมีพอ ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ย้ำยังมีเครื่องมือดูแลราคาไม่ให้กระทบประชาชน แจงเลิกใช้น้ำมันดีเซลบี 7 และบี 10 ชั่วคราว พอราคาปกติจะกลับมาใช้ใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในขณะนี้ เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการควบคุมราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทแล้ว จึงขอรอดูผลจากมาตรการของกระทรวงพลังงานก่อน ดังนั้นต้องรอผลการดำเนินงานอย่างมาตรการของกระทรวงพลังงานก่อน “ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาปรับลดภาษีน้ำมัน เพราะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีเพียงพอที่จะช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2654 คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเคาะมาตรการดูแลราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ 1.ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี 7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ 1.40 บาท 2.ลดการจัดเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลบี 7 เข้ากองทุนน้ำมันจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร ซึ่งทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวทำให้ราคาบี 7 และบี 10 ลดลงทันทีลิตรละ 1 บาท 3.ลดการผสมไบโอดีเซลจากบี 10 (ผสมไบโอดีเซล 10%) และบี 7 (ผสมไบโอดีเซล 7%) ให้เหลือจำหน่ายน้ำมันดีเซลบี 6 (ผสมไบโอดีเซล 6%) ชนิดเดียวชั่วคราว ที่ราคา 28.29 บาท

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยยืนยันยังมีเครื่องมือในการดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน หากมีความจำเป็นต้องนำเงินมาดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินของกองทุนน้ำเชื้อเพลิงที่มีอยู่ประมาณ 11,000 ล้านบาทแล้ว พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง ยังเปิดช่องให้สามารถกู้สถาบันการเงินโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ ส่วนการดูแลเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น ราคาน้ำมันเบนซิน ก็ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ต่อไป

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสาเหตุที่ กบง.มีมติดังกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค.นี้ ประเทศไทยจะมีการใช้น้ำมันดีเซลบี 6 และบี 20 และยกเลิกการผลิตน้ำมันดีเซลบี 7 และ บี 10 (น้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของประเทศไทย) ชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร

“การใช้ดีเซลบี 6 เพื่อควบคุมต้นทุนการใช้เนื้อน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไบโอดีเซล (บี 100) ซึ่งขณะนี้มีราคาสูง โดยลดการนำมาผสมเหลือสัดส่วน 6% (น้ำมันดีเซลบี 6) แทน นอกจากนั้นยังเป็นการลดผลกระทบราคาผลผลิตปาล์ม ที่นำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลอีกด้วย ซึ่งหลังจากครบกำหนดมาตรการสิ้นเดือน ต.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะประเมินราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง หากกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะกลับมาใช้น้ำมันดีเซลบี 7 และ บี 10 เช่นเดิม”

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันนั้น อาจเป็นสัญญาณที่ดีมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้มีการใช้น้ำมันเพิ่ม มีการเดินทางมากขึ้น ส่วนจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท มาช่วยเยียวยาผลกระทบหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามความจำเป็น ซึ่งกระทรวงการคลังมีหน้าที่เยียวยาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาน้ำมันขายปลีกล่าสุดที่ปรับลดลงหลังมาตรการของ กบง. กว่า 1 บาทต่อลิตรนั้น ประกอบไปด้วยน้ำมัน ดีเซลบี 7 อยู่ที่ 30.29 บาทต่อลิตรและน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมบี 7 อยู่ที่ 35.06 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลบี 10 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ