“คลัง” ลุยรื้อหลักเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ ให้ตอบโจทย์ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ นำเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท มาปัดฝุ่น เปลี่ยนการคำนวณจากรายได้ครัวเรือน แทนรายได้บุคคล ฯลฯ เผยเฉลี่ยผู้ถือบัตรได้รับการช่วยเหลือเดือนละ 1,800 บาท ขณะที่โดยรวมตั้งแต่ปี 2562 ได้รับการช่วยเหลือเฉลี่ยหมื่นบาทต่อคน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไข การเปิดรับสมัครผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ (บัตรคนจน) ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนทั้งคนเก่าที่ถือบัตรอยู่ในปัจจุบันและคนใหม่ที่ยังไม่เคยถือบัตร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อให้การช่วยเหลือของภาครัฐได้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เนื่องจากบัตรดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว จึงต้องปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนให้ตรงจุดมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังได้ศึกษาทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตั้งแต่ปี 2563 หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 จากเดิมตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้มีการลงทะเบียนใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากโควิด-19 มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องชะลอการเปิดให้ลงทะเบียนออกไปก่อน ล่าสุดขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ประชาชนได้รับวัคซีนจำนวนมากแล้ว ทำให้ในเดือน พ.ย.นี้ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนครั้งใหม่ ซึ่งทุกคนที่มีรายได้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคารของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์รายได้ จากเดิมคิดจากรายได้รายบุคคลไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เปลี่ยนเป็นรายได้ครัวเรือน รวมกันของคนในครอบครัว ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี, ไม่มีการถือครองรถยนต์มากกว่า 2 คันขึ้นไป, ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง, ไม่มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร สลากออมสิน, สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมไม่เกิน 100,000 บาท จึงจะได้รับสิทธิลงทะเบียน
สาเหตุที่ต้องทบทวนเรื่องเกณฑ์รายได้ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนมายังกระทรวงการคลังจำนวนมาก ว่า คนมีรายได้น้อยจริงๆ ไม่ได้สิทธิ์ลงทะเบียน ขณะที่คนมีรายได้มากกว่าเกณฑ์ กลับได้รับสิทธิ เช่น หัวหน้าครอบครัวมีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี มีงานประจำ มีที่ดิน มีรถยนต์หลายคันในบ้าน แต่ภรรยาเป็นแม่บ้าน และมีลูก เป็นนักศึกษา เป็นผู้ไม่มีรายได้ ก็ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีอาชีพเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกพืชหลายไร่ เช่น มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 10 ไร่ มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. มีรถยนต์มากกว่า 2 คัน แต่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่คนที่เช่าที่ดินทำการเกษตร มีรถจักรยานยนต์ ไม่มีเงินในบัญชีธนาคารเกิน 100,000 บาท ไม่ได้รับสิทธิบัตร
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องนำเรื่องเกณฑ์รายได้ครัวเรือน มาประกอบการพิจารณา เพื่อให้การช่วยเหลือถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยจริงๆ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13,537,294 ราย และแต่ละปีรัฐบาลใช้เงินงบประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทในเรื่องดังกล่าว โดยการโอนเงินให้ผู้ถือบัตร แบ่งตามเกณฑ์ดังนี้ ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 ต่อปี ได้รับเงินเดือนละ 300 บาท ผู้ที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับเงินเดือนละ 200 บาท
ขณะที่วงเงินที่ได้รับ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำไปซื้อสินค้าบริโภค-อุปโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และยังได้รับวงเงินส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดในอัตรา 45 บาท ต่อ 3 เดือนต่อคน และได้รับการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เดือนละ 500 บาท สามารถใช้เดินทางโดยสาร รถเมล์ รถไฟฟ้า รถ บขส. รถไฟได้อีกด้วย
นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรได้รับเป็นประจำทุกเดือนแล้ว เมื่อรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถือบัตร ยังจะได้รับการช่วยเหลือด้วยทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่เมื่อปลายปี 2561 รัฐบาลได้โอนเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อต้นปี 2562 วงเงิน 500 บาท ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายปุ๋ยให้เกษตรกร 1,000 บาท ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน 500 บาท เติมเงินให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 500 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) ผู้ที่มีบุตรภายใต้โครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 300 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) ช่วยเหลือคนพิการ 200 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย.2562)
ค่าเช่าบ้านแก่ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ขึ้นไป 400 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561-ก.ย.2562 เติมเงินให้แก่ผู้ถือบัตรให้สามารถใช้ได้ที่ร้านธงฟ้า โดยช่วงแรกเติมเงิน 200-300 บาท เมื่อเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2562 และเติมเงินอีกครั้ง 500 บาท เมื่อเดือน ส.ค.-ก.ย.2562 รวมทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำค่าไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 แบ่งเป็นค่าไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
ที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้ถือบัตรก็ยังได้รับเงินเยียวยาอีก 3,000 บาท โดยได้รับเงินเมื่อเดือน ก.ค.2563
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเติมเงินให้ผู้ถือบัตร ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะที่ 1 เมื่อเดือน ต.ค.-ธ.ค.2563 และระยะที่ 2 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 ระยะที่ 3 เติมเงินให้อีก 200 บาท ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมจากโครงการเราชนะอีก โดยผู้ที่ได้รับเงินเดือนละ 200 บาทจะได้รับเพิ่มเป็น 2,800 บาท ผู้ที่ได้รับเงินเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินเพิ่มเป็น 2,700 บาท
โดยสรุป ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.56 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เฉลี่ยเดือนละ 1,700-1,800 บาทต่อคน และยังไม่นับรวมเงินช่วยเหลือจากการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อคน มาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง