เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะทุกภาคส่วนต้องรับมือกับสถานการณ์โลกยุคใหม่ หลังหมดโควิด-19 โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล และ ESG
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ภายในการประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ในช่วง 15 ปีก่อนวิกฤติปี 40 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี GDP ภาคอุตสาหกรรมโตเกือบ 10% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของประเทศสูงถึง 34% แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงมาเฉลี่ยไม่ถึง 3% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตที่ 2% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เหลือไม่ถึง 25% ส่วนค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โต 4% เทียบกับค่าเฉลี่ยของภาพรวมของประเทศที่ 2% ดังนั้นปัจจุบันต้องแก้วิกฤติโควิดก่อน เศรษฐกิจจึงจะเข้มแข็งได้
ทั้งนี้ ภาพรวมของผลกระทบโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ ในส่วนการท่องเที่ยว จากเดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ช่วงต้นปี - ก.ค. 64 มีนักท่องเที่ยว 6 หมื่นคน และผลสำรวจจาก ธปท. พบว่า มีผู้ประกอบการโรงแรม 65% จะมีสภาพคล่องไม่ถึง 3 เดือน ส่วนภาคการผลิต ก็ถูกกระทบจากปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลน Semiconductor หรือตู้คอนเทนเนอร์ แต่ต้นทุนนี้ ยังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคไม่มาก
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลการจ้างงานในไตรมาส 2 ปี 64 จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เทียบกับแรงงานทั้งหมดที่ 39 ล้านคน ผู้ว่างงานระยะยาว คือ เกิน 1 ปี อยู่ที่เกือบ 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว และแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง เฉพาะเดือน ส.ค. 64 จำนวน 2 ล้านคน
ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ จะทำให้สินเชื่อโตใกล้เคียงกับก่อนโควิดและเติบโตท่ามกลางวิกฤติ ทั้งดูแลภาระหนี้เดิม ช่วยลูกหนี้ตามมาตรการของ ธปท. พบว่าเดือน ก.ค. 63 กว่า 6 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ธปท. มีมาตรการ ดำเนินนโยบายแบบ Countercyclical ที่ผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะการเงินให้ผ่อนคลาย และช่วยเหลือ SMEs ออกมาตรการเฉพาะ อย่าง พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ
นอกจากนี้ ภาครัฐใช้กลไก SFIs มาเสริมในการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวกว่า 4% ทั้งโครงการที่ดำเนินการตามมติ ครม. รวมถึงโครงการที่ SFIs ดำเนินการเองที่มีเงินหมุนในระบบไปแล้วอีกกว่า 3 แสนล้านบาท ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19
หากนโยบาย ธปท. ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทางแบงก์ชาติก็เข้าไปรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ พร้อมประสานความช่วยเหลือระหว่างธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ และประสานกับ SFIs ในส่วนของสินเชื่อโครงการรัฐ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจร้านอาหารและกลุ่มไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งช่วยเหลือภาคธุรกิจอื่นๆ ด้วย ล่าสุด แบงก์ชาติได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่
1. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม สามารถให้สภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs และปรับรูปแบบการค้ำประกัน เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มเสี่ยงมาก
2. มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. ให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะกับปัญหา
รับมือกับสถานการณ์โลกยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกยุคใหม่ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ 2 กระแส คือ
1. กระแสดิจิทัล มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ใช้ Digital Footprint ในการทำธุรกิจ ทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้อม
2. กระแส ESG เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหา เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม Carbon Footprint ของสินค้าต่างๆ
ทั้ง 2 กระแสดังกล่าวต้องปรับรูปแบบและปรับกระบวนการทำงาน สำหรับภาคธุรกิจ ต้องวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการหรือลงทุนใหม่ ต้องให้น้ำหนักกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและกระแสดิจิทัลในปัจจุบัน ส่วนภาคประชาชน ต้องวางแผนการเงิน เตรียมเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉิน ให้ความสำคัญกับความเท่าทันกระแสดิจิทัล เพื่อป้องกันถูกหลอกลวงรูปแบบต่างๆ
สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ๆ ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับกระแสของอนาคต เช่น นำ ESG เข้าไปกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ ธปท. ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่
1. การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
2. ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ
3. ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs
ในส่วนภาครัฐ ต้องปรับตัวเป็น Facilitator หรือผู้วางแผนนำทาง โดยเฉพาะปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และดำเนินนโยบายแบบ Countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% ต้องใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสด้วย.