“ประยุทธ์” เรียก “อาคม–กรมสรรพสามิต” สรุปอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ก่อนนำเข้า ครม.สัปดาห์หน้า ด้านสหภาพฯโรงงานยาสูบพร้อมชาวไร่ ออกโรงค้านข้อเสนอเครือข่ายสุขภาพให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 8–10 บาทต่อซอง มาอยู่ที่ซองละ 72–73 บาท หวั่นอุตสาหกรรมพังทั้งระบบ ซ้ำรอยขึ้นภาษีปี 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อเข้าหารือเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้สรุปอัตราภาษีที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพร้อมเหตุผลความจำเป็น ต่อนายก รัฐมนตรี เพื่อให้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงด้วยว่าเหตุผลความจำเป็น
ของการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงเมื่อปี 2560 ที่ระบุว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จะมีการปรับทบทวนในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายหลังจากที่มีการปรับในครั้งล่าสุดในปี 2560 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.2564 ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องนำเสนอโครงสร้างภาษีใหม่ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บในปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องเสียภาษี ทั้งคำนวณจากปริมาณและมูลค่ารวมกัน เริ่มจากเก็บต่อมวนละ 1.20 บาท และกรณีบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง จัดเก็บภาษี 20% แต่ถ้าราคาบุหรี่เกินราคา 60 บาทขึ้นไป จัดเก็บภาษี 40%
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (ส.ร.ย.) พร้อมด้วยตัวแทนชาวไร่ยาสูบราว 50 คน ได้เดินทางมายังกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือถึง รมว. คลัง และอธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อคัดค้าน
ข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพ ที่ให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 8-10 บาทต่อซอง ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกขั้นต่ำอยู่ที่ซองละ 72-73 บาทต่อซอง
โดยนายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพที่ให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่ เพราะจะทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นไปอีก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของโรงงานยาสูบอย่างมาก ซึ่งนับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โรงงานยาสูบ ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก ไม่มีรายได้เพื่อนำเงินส่งเป็นรายได้ของรัฐ จากเดิมที่นำเงินส่งเป็นรายได้ของรัฐปีละหลายพันล้านบาท
ขณะเดียวกันโรงงานยาสูบก็พยายามที่จะปรับตัว และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็สู้บุหรี่ต่างประเทศไม่ได้ เพราะผู้ผลิตบุหรี่ต่างประเทศก็ปรับกลยุทธ์หันมาผลิตบุหรี่ราคาเดียวกับโรงงานยาสูบของไทย หรือแพงกว่าบุหรี่ไทยไม่มาก ขณะเดียวกันจากราคาบุหรี่ในประเทศที่จำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีการนำเข้าบุหรี่เถื่อนจำนวนมากตามความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้รัฐขาดรายได้ ทั้งไม่สามารถจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ และโรงงานยาสูบรายได้ลดลง จนไม่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้ โดย 4 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถส่งรายได้เข้ารัฐรวม 34,000 ล้านบาท
นอกจากกระทบรายได้ของโรงงานยาสูบแล้ว ยังกระทบพนักงานของโรงงานยาสูบที่มีกว่า 2,000 ราย นอกจากนี้ยังกระทบชาวไร่ยาสูบอีก เมื่อโรงงานยาสูบไม่สามารถผลิตบุหรี่ ก็ไม่สามารถรับซื้อยาสูบจากชาวไร่ได้ กระทบกันเป็นลูกโซ่ เพราะขณะนี้ชาวไร่ยาสูบในหลายพื้นที่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถขายใบยาสูบได้ ไม่มีรายได้ ถึงแม้รัฐบาลจะส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ แต่การปรับเปลี่ยนอาชีพ ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยื่นคัดค้านการเก็บปรับขึ้นภาษีบุหรี่ที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นสูงมาก สร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังชาวไร่ยาสูบด้วย เพราะโรงงานยาสูบไม่สามารถรับซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลแจ้งว่าจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ปลูกยาสูบโดยกำหนดวงเงินไว้ที่ 159-160 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐแต่อย่างใด
ขณะที่นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตแจ้งว่า การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะพิจารณาอย่างดีไม่ให้เดือดร้อนชาวไร่ยาสูบ ดังนั้นจึงขอให้กรมสรรพสามิตและ รมว.คลัง ยึดมั่นในหลักการที่จะไม่ทำร้ายชาวไร่ยาสูบและโรงงานยาสูบ หากกรมสรรพสามิตยอมตามแรงกดดันของเครือข่ายสุขภาพหรือเอ็นจีโอแล้ว เท่ากับว่าชาวไร่ยาสูบก็ไม่สามารถพึ่งพากรมสรรพสามิตได้อีกต่อไป.