บัตรคนจน เฮ! ครม. เคาะงบกลาง 27,005 ล้านบาท ยืดเวลาลดค่าน้ำ ค่าไฟ อุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาทไปอีก 1 ปี เตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ ยืนยันเบี้ยคนชรายังคงเดิม ขยายเวลาลดเงินสมทบประกันสังคม เพิ่ม 3 เดือน ก.ย.–พ.ย.64 ช่วยเหลือทั้งนายจ้างลูกจ้าง ด้านการเคหะฯ ลดค่าเช่าให้ผู้เช่า เหลือ 999 บาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางปี 2564 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 27,005 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วย 1.ใช้วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564-ก.ย.2565 (12 เดือน) กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ ครัวเรือน/เดือน ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน
ขณะเดียวกัน ยังคงการสนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน
2. อนุมัติวงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน รวมทั้งได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 55 บาท/คน/3 เดือน และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket/ รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน และเบี้ยความพิการ 1,000 บาท/คน/เดือน 3. อนุมัติวงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) 4.วงเงิน 4,530 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ....ขยายเวลาปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ย.-30 พ.ย.2564 ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนตาม ม. 39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมบทจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาท/เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องได้ 945-1,575 บาทต่อคน และนายจ้างมีสภาพคล่องขึ้น”
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า คณะอนุกรรมการนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้หารือการกำหนดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มคนยากจนว่า ยังเป็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามปกติไม่ได้มีการปรับลด หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ให้นโยบายว่าให้รักษาสิทธิ์ผู้รับสิทธิ์เดิมไปจนเสียชีวิต
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังได้รับทราบมาตรการปรับลดค่าเช่าในโครงการของการเคหะแห่งชาติให้กับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-31 ธ.ค.2564 ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เช่ารายย่อย (เช่าเหมา) และกลุ่มผู้เช่ารายย่อย (เดิม) ลดค่าเช่าอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ที่มีค่าเช่าตั้งแต่ 999 บาทขึ้นไป ปรับลดเป็น 999 บาท ส่วนค่าเช่าที่ต่ำกว่า 999 บาท ให้ปรับลดราคา 50% ของราคาค่าเช่าเดิม ส่วนกลุ่มเช่าจัดประโยชน์ในโครงการของการเคหะแห่งชาติ ปรับลดค่าเช่าเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 ส.ค.-31 ก.ย.2564 ตามสัดส่วนของผลกระทบที่ได้รับในอัตรา 30% และ 50% เช่น แผงร้านค้ารายย่อยปรับลดค่าเช่า 50% ผู้ประกอบการเช่าเหมาบริหารตลาด ปรับลดค่าเช่า 30% กลุ่มสัญญาผู้ประกอบการรายใหญ่ (พลาซ่า) ปรับลดค่าเช่า 30% และกำหนดให้พลาซ่าปรับลดค่าเช่าให้ผู้เช่ารายย่อย 30% เป็นเวลา 2 เดือนเช่นกัน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง