น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปรียบเทียบระหว่างปีงบประมาณ 63 และปีงบประมาณ 64 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ พบว่า มีจำนวนเบาะแสข้อความที่ต้องคัดกรองเพิ่มมากขึ้น แต่หลังการคัดกรองพบว่าข่าวที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบลดลง และเริ่มเห็นแนวโน้มข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนลดสัดส่วนลง ขณะที่สัดส่วนข่าวจริงสูงขึ้น โดยในส่วนของข้อความข่าวที่คัดกรอง เมื่อปี 63 มีข้อความข่าวที่คัดกรองเฉลี่ยต่อเดือน 1.6 ล้านข้อความ และปี 64 มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 22 ล้านข้อความ
ขณะที่ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์นำมาตรวจสอบปีล่าสุดนี้ลดลง 8.65% จากปี 63 โดยหลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว พบว่าสัดส่วนข่าวปลอมในปี 64 ลดลง 26.43% ข่าวจริงเพิ่มขึ้น 28.66% และข่าวบิดเบือนลดลง 6.69%
ขณะเดียวกัน ดีอีเอสได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด โดยปี 63 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 158 ราย ดำเนินคดีแล้ว 59 ราย และปีล่าสุดนี้จำนวน 135 ราย ดำเนินคดีแล้ว 57 ราย
โดยในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63-31 ส.ค.64 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองกว่า 104 ล้านข้อความ พบเข้าหลักเกณฑ์และนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ 10,283 ข้อความ และได้รับการประสานยืนยันจากหน่วยงานต่างๆ รวมเป็นข่าวจำนวน 5,348 เรื่อง สัดส่วนมากสุดอยู่ในหมวดสุขภาพ 55.60% ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 41.20% และหมวดเศรษฐกิจ 3.20% และไม่พบหมวดภัยพิบัติที่เข้าข่ายเกี่ยวกับโควิด
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกดีอีเอสฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวสรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 10-16 ก.ย. 64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,682,764 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 177 ข้อความ โดยพบว่าข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1
เรื่องพนักงานไปรษณีย์ จัดส่งพัสดุที่ไม่ระบุชื่อผู้ส่งผู้รับ พร้อมทั้งบังคับรับพัสดุ อันดับ 2 เรื่องถ่ายภาพในสถานีรถไฟหัวลำโพง ต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น อันดับ 3 เรื่องตำรวจบุกค้นห้องชายวัย 20 ปี โดยไม่ได้แสดงหมายค้น อ้างบ้านอยู่ในระยะวิถีที่ยิงโดนตำรวจ
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เห็นแนวโน้มการแพร่กระจายข่าวปลอมลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพบว่าข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิดเริ่มกลับมาครองพื้นที่ข่าวปลอม คิดเป็นมากกว่า 60% อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากข้อมูลเชิงลึก ประชาชนเริ่มให้ความสนใจข่าวเฟกนิวส์เกี่ยวกับโควิดลดลง.