คมนาคมเดินหน้าโอน 3 สนามบินภูมิภาค "อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์" ให้ ทอท.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คมนาคมเดินหน้าโอน 3 สนามบินภูมิภาค "อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์" ให้ ทอท.

Date Time: 13 ก.ย. 2564 19:29 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • คมนาคมเดินหน้าโอนย้าย 3 สนามบินภูมิภาค "อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์" ให้ ทอท.รับผิดชอบ หลังหาทางออกข้อกฎหมาย-ผลตอบแทนให้ ทย.สำเร็จ คาดสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน 1 ม.ค.65

Latest


คมนาคมเดินหน้าโอนย้าย 3 สนามบินภูมิภาค "อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์" ให้ ทอท.รับผิดชอบ หลังหาทางออกข้อกฎหมาย-ผลตอบแทนให้ ทย.สำเร็จ คาดสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน 1 ม.ค.65

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ โอนย้ายสนามบินในสังกัด กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้มีการหาแนวทางร่วมกันกับ กรมท่าอากาศยาน กรมธนารักษ์ (ธร.) และ ทอท.

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปการโอนย้ายสนามบินภูมิภาคจำนวน 3 สนามบินประกอบด้วย สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท.แล้ว โดยการโอนย้ายดังกล่าวจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนและสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน 1 มกราคม 2565 นี้แน่นอน

สำหรับแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อโอนย้ายสนามบินทั้ง 3 แห่งนั้นคือ ทาง กรมธนารักษ์ ยินดีที่จะคิดค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าที่ดินในอัตราที่ ทอท. เคยจ่ายให้ในอัตราเดียวกับ 6 สนามบินที่ ทอท.จ่ายอยู่ในปัจจุบัน

โดยทางกรมธนารักษ์ จะเข้ามาทำสัญญาโดยตรงกับ ทอท.ในการเข้ามาบริหารทั้ง 3 สนามบิน จากเดิมทาง ทย. เป็นผู้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์ และสัญญาที่จะเซ็นเพื่อให้ ทอท.เข้ามาบริหารสนามบินจะเป็นสัญญาระยะยาว คาดว่า 30 ปี จากเดิมเป็นสัญญาต่อทีละ 3 ปี นอกจากนั้นในการโอนย้ายสนามบินระยะแรกจะมีการดำเนินการใน 2 สนามบินก่อน คือ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ในระยะแรก ส่วนสนามบินกระบี่จะมีการโอนย้ายในระยะต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ทย.ที่จะโอนสนามบินทั้ง 3 แห่งมาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท. นั้น ทาง ทอท.จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทย. แม้ผลตอบแทนที่ ทอท. จะจ่ายให้ ทย. จะไม่มีประเด็นใดในเชิงการเงิน แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับ ทย.เนื่องจากสนามบินที่โอนมามีศักยภาพมาก และที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้กับ ทย.

ดังนั้น ทอท.จึงต้องมีการหารือต่อในประเด็นกระบวนการจ่ายเงิน ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดบ้าง โดยในเบื้องต้น ทาง ทอท.ได้กำหนดไว้ 2 รูปแบบคือ 1. มีการทำประมาณการผู้โดยสารตลอดอายุสัญญาและจ่ายผลตอบแทนให้ ทย.เป็นก้อนเดียว และ 2. ทอท.กำหนดจ่ายผลตอบแทนตามจริงต่อรายหัวผู้โดยสาร ให้กับ ทย.ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง ทย. จะทำการศึกษาข้อกฎหมายของกองทุนฯ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมากำหนดรูปแบบการจ่ายที่เหมาะสมให้เข้ามาที่เงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ ทาง ทย. ได้มีการเดินหน้าคัดค้านนโยบาย การโอนย้ายสนามบินในกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. จำนวน 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ ให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการอ้างว่า การบริหารท่าอากาศยานในกำกับดูแลของ ทย.เป็นไปในลักษณะที่มีท่าอากาศยานหลายแห่ง และเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง โดยจะมีทั้งท่าอากาศยานที่มีกำไร และที่ไม่ได้มีกำไร แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้จังหวัดนั้นๆ มีท่าอากาศยานให้บริการอยู่

ดังนั้น ทย.ก็จัดการโดยการนำรายได้จากท่าอากาศยานที่กำไร ไปหล่อเลี้ยงท่าอากาศยานอื่นๆ แต่หากมีการโอนย้ายท่าอากาศยานที่มีกำไร ออกจาก ทย. ไป จนรายได้ลด จนมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ท่าอากาศยานทุกแห่งมีผลดำเนินการติดลบ ท้ายที่สุดก็ต้องเป็นภาระภาษีของประชาชน ต้องเอางบประมาณมาดูแลบำรุงรักษาท่าอากาศยานทุกแห่ง

นอกจากนั้นยังมีกล่าวกันว่า สนามบินภายใต้การกำกับของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่สามารถดำเนินการจนมีกำไรจาก 29 สนามบิน จะมีเพียง 6 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ นครศรีธรรมราช อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ที่สามารถเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) เข้าสู่กองทุนหมุนเวียนภายใน ทย. รวมๆ ปีละ 600-700 ล้านบาท และสามารถนำค่าธรรมเนียมมาเลี้ยงดูสนามบินอื่นๆ ของ ทย. ได้ด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ