ดีอีเอสขอ “ไทยคม” เป็นพี่เลี้ยงต่อ โทรคมนาคมแห่งชาติมั่นใจดาวเทียมไม่สะดุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดีอีเอสขอ “ไทยคม” เป็นพี่เลี้ยงต่อ โทรคมนาคมแห่งชาติมั่นใจดาวเทียมไม่สะดุด

Date Time: 11 ก.ย. 2564 06:03 น.

Summary

  • ดีอีเอสส่งหนังสือโค้งสุดท้าย ขอไทยคมร่วมมือ NT ให้บริการดาวเทียมไร้จุดสะดุด หลังดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 สิ้นอายุสัมปทานและตกเป็นของรัฐ ด้าน NT

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ดีอีเอสส่งหนังสือโค้งสุดท้าย ขอไทยคมร่วมมือ NT ให้บริการดาวเทียมไร้จุดสะดุด หลังดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 สิ้นอายุสัมปทานและตกเป็นของรัฐ ด้าน NT ย้ำ ธุรกิจดาวเทียมต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น การควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจร หากไม่ได้มืออาชีพช่วย เสี่ยงบริษัทประกันไม่รับประกันดาวเทียม โชว์ความพร้อมขายส่ง–ขายปลีกช่องสัญญาณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รับช่วงบริหารและให้บริการดาวเทียมต่อจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หลังจากที่สัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 นั้น

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เปิดเผยว่า NT มีความพร้อมในการให้บริการลูกค้าบนดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ให้ได้รับบริการโดยไร้รอยต่อ โดยปัจจุบัน NT ได้ให้บริการสถานีรับ-ส่งสัญญาณดาวเทียม (สถานี Uplink-Downlink) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามธุรกิจดาวเทียมเป็นธุรกิจที่ต้องการทักษะจำเพาะ ซึ่ง NT ยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์พอ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากไทยคม ในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญกว่า

“นอกเหนือจากการรับส่งสัญญาณแล้ว การทำธุรกิจดาวเทียมยังต้องควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจร ซึ่งถูกกำกับภายใต้มาตรฐาน ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ซึ่งตรงนี้ NT ยังไม่เชี่ยวชาญพอ แม้จะส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกกับไทยคมมาตลอดหลายปี เมื่อเรายังไม่ได้รับความเชื่อถือ หากไม่มีไทยคมสนับสนุน อาจทำให้บริษัทประกันปฏิเสธการรับประกันดาวเทียมได้ หากไม่เชื่อมั่นในบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการใหม่”

ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอส โดย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอสจึงได้ลงนามในหนังสือถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม เพื่อขอความร่วมมือในการทำงานร่วมกับ NT เพื่อให้ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า NT ได้เริ่มติดต่อลูกค้าดาวเทียมมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อแจ้งให้ทราบว่า NT จะเข้ามารับช่วงให้บริการ โดยเฉพาะลูกค้าในประเทศ และลูกค้าหน่วยงานราชการ ซึ่งได้สำรองช่องสัญญาณดาวเทียมไว้ 1 ทรานสพอนเดอร์ เพื่อให้บริการฟรีเช่นเดิม โดย NT จะเป็นทั้งผู้ค้าส่งและค้าปลีกช่องสัญญาณดาวเทียมด้วยตัวเอง ใครอยากมารับช่วงขายช่องสัญญาณต่อ ก็สามารถมาร่วมทำธุรกิจด้วยกันได้

ด้านนายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม กล่าวว่า การส่งมอบทรัพย์สินภายใต้สัมปทานเสร็จสิ้นหมดแล้ว เนื่องจากสัญญาเป็นแบบ BTO คือสร้าง-โอนทรัพย์สิน-ให้บริการ มั่นใจว่าหลังเที่ยงคืนของวันที่ 10 ก.ย.เป็นต้นไป NT จะสามารถส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้าไทยคมต่อได้ ขอให้ลูกค้าซึ่งประกอบด้วยสถานีโทรทัศน์ในประเทศบางส่วนมั่นใจได้ว่าการให้บริการจะไม่มีจุดสะดุดแน่นอน

ส่วนกรณี NT จะให้ไทยคมช่วยให้บริการลูกค้าบางส่วนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันที่ชัดเจน แต่ไทยคมพร้อมที่จะร่วมมือกับ NT เพื่อส่งมอบบริการได้แบบไร้รอยต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.ไทยคม ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจากกระทรวงคมนาคม มีระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 11 ก.ย.34 โดยได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 10 ก.ย.64 แต่เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุเพียง 3 วัน ที่ประชุม ครม.ได้มีมติสำคัญ คือ

1.เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลฯเสนอ ให้ INTUCH หรือเดิมคือ บมจ.ชิน คอร์ปอฯ ถือหุ้นในไทยคมฯไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จากปัจจุบันถืออยู่ไม่ต่ำกว่า 40% ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 47 ได้กำหนดให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ป ในไทยคมฯ จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชินคอร์ปและไทยคมฯ ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร

2.เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

3.ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยให้นายวิษณุ เป็นที่ปรึกษา และพลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ