พาณิชย์ดันสินค้าหัตถกรรมไทย เจาะยุโรป-อเมริกา-ออนไลน์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์ดันสินค้าหัตถกรรมไทย เจาะยุโรป-อเมริกา-ออนไลน์

Date Time: 10 ก.ย. 2564 05:14 น.

Summary

  • รมช.พาณิชย์เผยเตรียมพลิกโฉมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยใหม่เพื่อส่งออกนอกไปตีตลาดทั่วโลก ผลิตภัณฑ์เป็นแบบไฮเทคนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันและตรงใจผู้ซื้อ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

รมช.พาณิชย์เผยเตรียมพลิกโฉมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยใหม่เพื่อส่งออกนอกไปตีตลาดทั่วโลก ผลิตภัณฑ์เป็นแบบไฮเทคนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันและตรงใจผู้ซื้อทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยมีทูตพาณิชย์เป็นพี่เลี้ยงหาตลาดขายทั่วภูมิภาคจนถึงในโลกออนไลน์ ด้านรักษาการ ผอ.สถาบันระบุ ต้นปี 65 พร้อมขับเคลื่อนนโยบายทุกมิติเพื่อสืบสานส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน

พณ.เตรียมพัฒนาสินค้าหัตถกรรมไทยส่งออกตีตลาดโลก เปิดเผยขึ้น วันที่ 9 ก.ย. นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) สศท. หรือ sacit จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจเร่งส่งเสริมสนับสนุนพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” คือพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัยสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยยังคงคุณค่าอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมไทยเอาไว้ รวมทั้งมีฐานการผลิตที่ได้มาตรฐานจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของตลาดขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

นายสินิตย์กล่าวต่อว่า สศท.จะพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ตรงใจตลาด ราคาเหมาะสมสินค้ามีคุณภาพ จากนั้นกระทรวงรับไม้ต่อหาตลาดช่องทางใหม่ๆ ผ่านพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ที่เป็นสื่อกลางพาผู้ผลิตให้มีตลาด โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพส่งออกทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ต้องการสินค้ามีเอกลักษณ์และใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายตรงกับรสนิยมการบริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลก ทั้งนี้ สศท.ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการประกอบอาชีพ ทั้งในกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตศิลปหัตถกรรมในชุมชน และคนรุ่นใหม่ ต้องพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในกลุ่ม Micro SME, SME พัฒนาไปสู่กลุ่ม Startup ทางด้านศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ “Smart Craft CEO” รวมทั้งอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในพื้นที่และการอบรมออนไลน์เพื่อให้เกิดทักษะในการเจรจาค้าขายและส่งออก

รมช.พาณิชย์กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการต้องผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย จดทะเบียนสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า การจดทะเบียน GI เป็นต้น เมื่อเกิดการติดอาวุธทางการค้าทั้งด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ การตลาดและการค้า รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆจะช่วยให้ผู้ประกอบเกิดการพัฒนาและกระจายรายได้ไปยังชุมชนและภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมไปยังผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ส่งเสริมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ขยายช่องทางกับแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ หรือการจัดงานแสดงสินค้าแบบออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำการตลาดเชิงรุก เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าจากการที่ประสบปัญหาจากโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้มาอนุรักษ์ สืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

ด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการ ผอ.สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ.2564 สถาบันได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และการเตรียมการคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมารองรับภารกิจดังกล่าว คาดว่าต้นปี 65 จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวองค์กรให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.กำหนดได้แล้วเสร็จ ระหว่างนี้สถาบันได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางรากฐานและเตรียมความพร้อมดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ