ชงรัฐ 4 ข้อสู้วิกฤติโควิด! ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิ่งรอบ 16 เดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชงรัฐ 4 ข้อสู้วิกฤติโควิด! ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิ่งรอบ 16 เดือน

Date Time: 9 ก.ย. 2564 07:20 น.

Summary

  • ความเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งสุดรอบ 16 เดือน วอนรัฐหนุนงบสู้โควิดลามโรงงาน-พักต้นพักดอกนาน 1 ปี ส.อ.ท.จับมือ 3 แบงก์ อัดสินเชื่อ 4 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอี

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

ความเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งสุดรอบ 16 เดือน วอนรัฐหนุนงบสู้โควิดลามโรงงาน-พักต้นพักดอกนาน 1 ปี ส.อ.ท.จับมือ 3 แบงก์ อัดสินเชื่อ 4 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอี ด้านแรงงาน ต่ออายุมาตรการลดจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่ออีก 3 เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนส.ค.ว่า ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม และค่าดัชนีฯยังต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ มาจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือน ส.ค. ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง

ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลง และการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก และผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง รวมทั้งภาคการส่งออกยังเจอปัญหาอัตราค่าระวางเรือระดับสูง และการ ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการคาดหวังว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว และเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผลสำรวจถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีจำนวน 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบในการจัดตั้งพื้นที่กักตัวและศูนย์พักคอยภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจเอทีเค ตามมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล 2.ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 ที่สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด 3.ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี 4.ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย

“ล่าสุดจากการที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือน ต.ค. นี้ก็ขอให้เน้นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แรงงาน และจัดหาวัคซีนให้เพียงพอตามที่ประกาศไว้ และอยากให้ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการป้องกันโควิดภายในโรงงาน”

ขณะเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสมาชิก ล่าสุด ส.อ.ท.ได้หาแหล่งเงินทุนรูปแบบ ซัพพลายเชน แฟคตอริ่ง โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเอง ผ่านกลไกของธนาคาร 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมการประกันสังคม ชุดที่ 13 มีมติเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบ ปี 64 ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย.-พ.ย.64 หลังจากครบกำหนดเมื่อสิ้นเดือน ส.ค.64 โดยกำหนดลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างเหลือ 2.5% และลูกจ้างผู้ประกันตน มาตรา 33 เหลือ 2.5% ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จัดเก็บเดือนละ 235 บาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ