ครม.อนุมัติเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 เพิ่มอีก 16,965.5 ล้านบาท โดยปรับปรุงจำนวนนายจ้างเพิ่มขึ้น 18,900 ราย และผู้ประกันตน ม.33 เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ใช้เงินเพิ่มขึ้นอีก 862.2 ล้านบาท พร้อมทั้งเยียวยา 13 จังหวัดเพิ่มอีก 1 เดือน รวมกรอบเงินเยียวยาอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท ด้าน “สุพัฒนพงษ์” เล็งใช้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต.ค.นี้หลังโควิดคลี่คลาย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ โดยอนุมัติเงินเพิ่มอีก 16,965.5 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุง นายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้าง 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 ราย และผู้ประกัน ตน ม.33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 ส.ค.2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้
2.อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดเพิ่มเติมสำหรับเดือน ส.ค.อีก 1 เดือน แบ่งเป็น 1.ช่วยเหลือนายจ้าง 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือน ก.ย.2564 นี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม 16,965.5 ล้านบาท จากเดิมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.อนุมัติไปแล้ว 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท
“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย”
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง ในขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์ในเดือน ก.ย.นี้อย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังทรงตัวและไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ๆที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มอีกก็ถึงเวลาที่จะเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะเริ่มในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการที่จะใช้มีทั้งนโยบายที่เป็นนโยบายใหม่ และนโยบายเดิม โดยนโยบายเดิมเช่นโครงการคนละครึ่ง หรือนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่และมีการขยายระยะเวลาออกไปก็ยังเดินหน้าต่อตามนั้น
“หากดูสถานการณ์ในขณะนี้เป็นไปด้วยดี ประชาชนดูแลตัวเองดีก็คิดว่าถึงเวลาที่เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ นโยบายทุกอย่างอยู่ในลิ้นชักอยู่แล้วรอเวลาที่เหมาะสมที่จะเอาขึ้นมาใช้ได้”
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะยังขยายตัวได้หรือไม่นั้นจะต้องมีการประเมิน เบื้องต้นมองว่าน่าจะยังขยายตัวได้ เพราะยังมีบางส่วนของเศรษฐกิจที่เติบโตได้อยู่
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอจากภาคเอกชนและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในเรื่องนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินในขณะนี้ เพราะเงินกู้ที่มีอยู่ยังเหลืออีกกว่า 400,000 ล้านบาท.