เปิดโผธุรกิจที่ต้องปฏิบัติ “ดีอีเอส” แจงสี่เบี้ยเกณฑ์เก็บล็อกไฟล์ใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดโผธุรกิจที่ต้องปฏิบัติ “ดีอีเอส” แจงสี่เบี้ยเกณฑ์เก็บล็อกไฟล์ใหม่

Date Time: 24 ส.ค. 2564 07:45 น.

Summary

  • “ดีอีเอส” ชี้แจง ประกาศเกณฑ์เก็บล็อกไฟล์ใหม่ ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น รับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เปิดโผร้านอาหาร สปา ร้านค้าที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นบริการเสริม

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“ดีอีเอส” ชี้แจง ประกาศเกณฑ์เก็บล็อกไฟล์ใหม่ ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น รับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เปิดโผร้านอาหาร สปา ร้านค้าที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นบริการเสริม รวมทั้งแอปพลิเคชันต่างๆ รวมแอปภาครัฐ ก็เข้าข่ายต้องจัดเก็บล็อกไฟล์ทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และปี 2560 ซึ่งประกาศฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ขยายการกำหนดประเภทของผู้ให้บริการซึ่งมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือล็อกไฟล์ (Log files) ให้ครอบคลุมและชัดเจนมาก ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องเก็บล็อกไฟล์ภายใต้ประกาศใหม่ ครอบคลุมผู้ให้บริการดิจิทัล (digital service) ได้แก่ แอปพลิเคชัน, สื่อสังคมออนไลน์, สื่อทีวีที่ให้บริการผ่านแอป ออนไลน์ เครือข่ายโซเชียลมีเดีย ร้านอาหาร ร้านสปา ร้านค้าที่ให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านไวไฟ ผู้ให้บริการเก็บหรือพักข้อมูลทั้งชั่วคราวและถาวร โดยมีระบบบริหารจัดการข้อมูลด้วยอินเตอร์เน็ต ก็ต้องมีการจัดเก็บล็อกไฟล์เช่นกัน

จากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ให้บริการที่มีหน้าที่จัดเก็บล็อกไฟล์ ได้แก่ ผู้ให้บริการมือถือ (Operator), ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี), ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์หรือบริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่

น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ประกาศฉบับเดิมประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2550 จึงต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยอิงตามหลักสากล ไม่ได้ทำเกินเลยจากที่ควรจะเป็น เพราะหน้าที่ของผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ต้องจัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สำหรับผู้ใช้บริการทุกคน รักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และการเก็บรักษาข้อมูล แม้มีการจ้างบุคคลภายนอกเก็บข้อมูล ก็ต้องรับผิดชอบตามประกาศนี้ และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่รัฐทันที

เมื่อมีการร้องขอนายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดดีอีเอส กล่าวว่า ร้านอาหาร สปา หรือร้านค้าอื่นๆที่ ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อให้บริการเสริมการขาย หรือการให้บริการ ให้เวลาเตรียมตัวเพื่อจัดเก็บล็อกไฟล์ภายใน 1 ปี ส่วนผู้ให้บริการดิจิทัล (digital service) รวมแอปพลิเคชันต่างๆ รวมหมอพร้อม หมอชนะ ที่เป็นแอปภาครัฐ ก็ต้องจัดเก็บด้วย โดยให้เวลาภายใน 180 วัน ซึ่งประกาศฉบับนี้ ยังขยายเวลาจัดเก็บล็อกไฟล์จากเดิม 90 วัน เป็นขยายได้ครั้งละ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากพบปัญหาขั้นตอนของศาลล่าช้า กว่าจะเสร็จสิ้นบางครั้งเกิน 90 วัน เมื่อต้องการข้อมูลก็ปรากฏถูกลบไปเสียก่อน จึงเปิดเงื่อนไขขยายเวลาจัดเก็บ

ทั้งนี้ ประกาศฉบับใหม่กำหนดประเภทของ “ผู้ให้บริการ” ที่ต้องเก็บล็อกไฟล์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ครอบคลุม 6 กิจการ ประกอบด้วย 1.โทรคมนาคมและการกระจายภาพและเสียง 2.ผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 3.ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือบริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ 4.ผู้ให้บริการร้านอินเตอร์เน็ต 5.ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แอปพลิเคชันที่ทำให้บุคคลติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ 6.ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะมีระบบสมาชิกหรือไม่ก็ตาม ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ให้บริการในการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ได้แก่ แอปพลิเคชันต่างๆ ผู้ให้บริการเก็บหรือพักข้อมูลทั้งชั่วคราวหรือถาวร ผู้ให้บริการคลาวด์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ