หอการค้าไทยถกคณะที่ปรึกษานายกฯ ดิ้นหาทาง “เปิดเมืองปลอดภัย” เสนอทำ “กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์” นำร่องเปิดกิจการค้าปลีก แต่พนักงาน-ประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการต้องฉีดวัคซีน หรือมีผลตรวจไม่พบเชื้อ ก่อนขยายผลไปกิจการอื่น พร้อมจับมือ ศบค.-สธ. จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยของกิจการคุมการแพร่เชื้อ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมคณะที่ปรึกษา เพื่อหารือถึงแนวทาง และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อและกลับมาเปิดประเทศได้ “ได้หารือกันถึงการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ควบคู่กับการแพร่ระบาดที่ยังมีมากอยู่และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อโดยคณะ “เปิดเมืองปลอดภัย Business Resume” ของหอการค้าไทยจะนำแนวทางที่ใช้ผ่อนคลายกิจการต่างๆ เมื่อปีที่แล้ว คือ กิจการสีขาว เขียว เหลือง แดง มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการแพร่ระบาดปัจจุบัน ที่มีสายพันธุ์เดลตา พร้อมกับนำเรื่อง Covid Status Check เข้ามาใช้ เพื่อตรวจสอบว่า ทั้งกิจการ สถานประกอบการ และประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการในกิจการที่จะเปิดมีความมั่นใจในการเข้ามาใช้บริการและเข้ามาทำงาน”
สำหรับข้อเสนอการเปิดเมืองปลอดภัย เพื่อการเปิดธุรกิจนั้น เบื้องต้น หอการค้าไทยเสนอ 3 แนวทางคือ 1.กำหนดมาตรฐานและมาตรการของแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยแบ่งเป็น ภาคการค้าบริการ และภาคการผลิต โดยภาคเอกชนจะจัดทำมาตรฐาน กระบวนการป้องกัน กระบวนการรักษาความสะอาด ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้และให้ธุรกิจเดินหน้าได้
โดยมาตรการด้านความปลอดภัยที่จะดำเนินการ เช่น SHA + (แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการ หรือข้อกำหนดเบื้องต้นที่สถานประกอบการพึงมี เพื่อป้องกันโควิด-19 ตามมาตรการด้านสาธารณสุข), คู่มือสำหรับสถานประกอบการ โดยแยกเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการควบคุมหลักและมาตรการควบคุมเสริม เช่น ข้อปฏิบัติด้านการจัดเตรียมสถานที่ ข้อปฏิบัติของพนักงาน ข้อปฏิบัติในการคัดกรองผู้ใช้บริการ ข้อปฏิบัติระหว่างใช้บริการ, แบ่งกิจการที่จะเปิดตามประเภทต่างๆ เช่น กิจการค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร ตลาดกีฬาและสันทนาการ การขนส่ง กิจการอื่นๆ เช่น ร้านตัดผม เป็นต้น
2.ใช้ระบบ Digital Health Pass ในการตรวจสอบประชาชนที่จะเข้ามาให้บริการและมาใช้บริการในกิจการต่างๆ ว่า ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Rapid Test หรือใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK) หรือไม่ โดยจะเชื่อมข้อมูลของประชาชนกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น หมอพร้อม หรือ MOPH IC (ฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการให้บริการวัคซีนทั่วประเทศ) เพื่อยืนยันและคัดแยกว่าประชาชนนั้นไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ แต่สิ่งสำคัญคือ ข้อมูลจะต้องมีความน่าเชื่อถือ 3.ทดลองการเปิดเมืองปลอดภัยในกรุงเทพฯก่อน หรือทำกรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์ (Bangkok Sandbox) โดยสามารถทดลองจากกลุ่มค้าปลีกที่มีความพร้อมและประชาชนที่ฉีดวัคซีนในระบบไทยร่วมใจที่เชื่อมข้อมูลกับหมอพร้อม ก่อนจะขยายผลไปยังกิจการอื่นๆ.