แบงก์ชาติใช้แนวทาง "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ" แก้หนี้ช่วงโควิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติใช้แนวทาง "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ" แก้หนี้ช่วงโควิด

Date Time: 20 ส.ค. 2564 07:59 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เปิดแนวทางการแก้หนี้ช่วงโควิด-19 ของธปท. ต้องให้ "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ" พร้อมผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุมและทันการณ์

Latest


เปิดแนวทางการแก้หนี้ช่วงโควิด-19 ของธปท. ต้องให้ "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ" พร้อมผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุมและทันการณ์

หลังจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้กล่าวภายในงาน Meet the Press เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยแนะนำให้รัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน เพื่อแก้เศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นหลุมลึก ไม่ต้องห่วงหนี้สาธารณะที่จะพุ่งไปแตะ 70% ในปี 67 เพราะจะลดลงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษี ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (อ่านฉบับเต็มที่นี่)

ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว ดร.เศรษฐพุฒิ ยังได้พูดถึงการใช้มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการดูแลหนี้ของประชาชน และภาคธุรกิจที่น่าสนใจ ดังนี้ต่อไปนี้ 

มาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระหนี้และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายมิติ ครอบคลุมลูกหนี้ที่หลากหลาย และถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง

มิติแรก คือ การแก้ไขหนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้เป็นวงกว้าง รุนแรง ยาวนาน และยังคาดเดาได้ยากว่าจะจบลงเมื่อใดและอย่างไร

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากช่วงแรกของการระบาดที่สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน มาตรการช่วยเหลือจึงเป็นแบบปูพรม แต่เมื่อชัดขึ้นว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อออกไปและส่งผลต่อลูกหนี้ไม่เท่ากัน ด้วยกระสุนที่จำกัด มาตรการระยะที่ 2 จึงเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้แบบตรงจุด

โดยให้ผู้เดือดร้อนมาแจ้งขอเข้ามาตรการและส่งเสริมให้สำนักงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่เมื่อการระบาดระลอกสาม (เม.ย. 64) ส่งผลรุนแรงขึ้นมาก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 จึงเน้นบรรเทาภาระหนี้ในระยะยาว ลดภาระดอกเบี้ย และมีทางเลือกในการปิดหนี้ โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 มีลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ภายใต้มาตรการฯ จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.5 ล้านบัญชี

โดยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีปัญหาในการชำระหนี้ ธปท.จัดให้มีช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ และมีแนวทางแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มีลูกหนี้เข้าโครงการในส่วนของบัตรเครดิตและ P-Loan ที่ได้รับความช่วยเหลือสะสมแล้วกว่า 1.9 แสนบัญชี

ส่วนของลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินเป็นประกัน ธปท. จึงได้ออกแบบมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตัดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันได้ชั่วคราวอย่างตรงอาการ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำความเข้าใจ ทั้งในฝั่งลูกหนี้ ที่จะต้องโอนทรัพย์ให้เจ้าหนี้และกลัวโดนยึดทรัพย์ไป

และฝั่งเจ้าหนี้ที่อาจไม่แน่ใจว่าลูกหนี้จะกลับมาซื้อทรัพย์คืนหรือไม่ในอนาคต รวมถึงเจ้าหนี้จะต้องการให้ลูกหนี้เช่าทรัพย์กลับเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าไปดูแลแทน ทำให้ต้องอาศัยเวลาในการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งแต่มาตรการออกใช้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 8,991 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงกิจการอื่นๆ เช่น โรงงาน ร้านอาหาร เป็นต้น

มาตรการนี้เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกหนี้ในการบรรเทาภาระหนี้เท่านั้น โดยยังมีอีกหลายทางเลือก เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น หรือการเติมสภาพคล่อง ซึ่งจากข้อมูลลูกหนี้ในกลุ่มโรงแรมและที่พักแรมที่มียอดหนี้คงค้างกับธนาคารพาณิชย์จำนวนประมาณ 4 แสนล้านบาท

โดยพบว่า 69% หรือ 2.83 แสนล้านบาท ได้รับความช่วยเหลือ และเป็นการปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุด โดยธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ ร่วมกับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป

จากมาตรการควบคุมการระบาดระลอกล่าสุด ธปท.ได้จัดให้มีมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ที่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ไทย แจ้งขอรับความช่วยเหลือจำนวนเงินรวม 353,705 ล้านบาท รวม 630,585 บัญชี และได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 240,642 ล้านบาท หรือ 68% คิดเป็น 375,153 บัญชี หรือ 59%

โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่เนื่องจากยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ทำให้มีลูกหนี้ที่ต้องรอการพิจารณา ซึ่งธนาคารพาณิชย์กลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว

ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไปและยืดเยื้อ การพักชำระหนี้ 2 เดือนจะต่อไปอีกหรือไม่

ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนักและมีโอกาสจะต้องพักต่อไปอีก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ไขหนี้ในรูปแบบชั่วคราว เช่น การพักชำระหนี้ จึงไม่ตรงอาการแล้ว เพราะจะเหมาะกับกรณีเศรษฐกิจมีปัญหาระยะสั้น และสถานการณ์กลับสู่ปกติเร็ว ถ้าต้องพักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอนและสิ้นเปลืองเวลาในการติดต่อสถาบันการเงิน ขณะที่สถาบันการเงินเองก็สิ้นเปลืองต้นทุนการบริหารจัดการด้วย

มิติที่สอง คือ การเติมสภาพคล่อง ที่อาจต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และบรรเทาภาระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจไปได้ในช่วงวิกฤตินี้ก่อน ในปัจจุบัน สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเพียงพอ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าภาวะการเงินของไทยยังผ่อนคลาย แต่ความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอนมีอยู่สูง ทำให้สภาพคล่องไม่สามารถกระจายไปยังผู้ที่ต้องการได้อย่างตรงจุด หรือตามอาการได้เท่าที่ควร

การเติมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อภายใต้มาตรการฟื้นฟูสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้การกระจายสินเชื่อทำได้ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สะท้อนความมุ่งมั่นช่วยเหลือธุรกิจให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากได้ปรับเงื่อนไขจาก พ.ร.ก. soft loan เดิมให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ โดยมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของ ธปท.และสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือน ต.ค. 64

โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. 64 ธปท. ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูรวมทั้งสิ้น 89,444 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ จำนวน 29,365 ราย เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ Micro SMEs 44.2% ประกอบธุรกิจกลุ่มการพาณิชย์และบริการ 67.5% และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 68.7%

ทั้งนี้ สินเชื่อของ SMEs ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่รวมสินเชื่อจากมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นบวกครั้งแรกหลังจากติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและ soft loan ซึ่งหากไม่นับรวมผลของมาตรการนี้ จะหดตัวที่ 1.3%

ธปท. มีแนวทางอย่างไร เพื่อให้มาตรการที่ออกมาสามารถช่วยลูกหนี้ได้จริง

แนวทางในการแก้ไขหนี้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าและช่วยลูกหนี้ได้จริง คือ 1.การปรับให้ภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ หรือ "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ"

2.การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างทันการณ์ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ ควรต้องมีลักษณะ  

- มองยาว มองไปข้างหน้าถึงสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น โดยให้ภาระการจ่ายหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา

- ทำกว้าง เน้นให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ให้สามารถ scale การช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้เร็ว

- ตรงจุด ให้เหมาะกับอาการของลูกหนี้แต่ละรายหรือแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและการฟื้นตัวที่ต่างกัน

- รอดด้วยกัน มาตรการช่วยเหลือต้องเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

- ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบไม่มาก ทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง และส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวม

ภายใต้แนวทางดังกล่าว ธปท.จะมีกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการที่ยังให้ความยืดหยุ่นในเรื่องการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

นอกเหนือไปจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และอาจรวมถึงการลดเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายต่างกัน การให้ความช่วยเหลือจึงไม่สามารถทำในลักษณะที่เหมือนกันได้ในทุกกรณี (One size fits all) ซึ่งสถาบันการเงินและลูกหนี้จะต้องหารือกัน โดยพิจารณา 1.ความสามารถในการชำระคืนหนี้ในอนาคตเมื่อรายได้กลับมาและ 2.ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต

ดังนั้น การช่วยเหลือที่ ธปท. อยากเห็นจึงไม่ใช่การพักหนี้เป็นการทั่วไปในวงกว้าง เพราะการดำเนินการในวงกว้างจะส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว เนื่องจาก

1.ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว ดังนั้น ลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้เพื่อลดภาระโดยรวม

2.สร้างแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) เพราะลูกหนี้ชั้นดีอาจอาศัยเป็นช่องทางประวิงเวลาการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริงอาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ

3.ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานอาจทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยลดลง

ในการช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้เพิ่มเติม
ธปท. พิจารณาการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อย่างไรบ้าง

การออกแบบมาตรการช่วยลูกหนี้ในภาวะวิกฤติที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ บางมาตรการแม้จะอาจช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกหนี้ได้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังถึงผลได้ผลเสียหรือผลข้างเคียงโดยละเอียดก่อน โดยเฉพาะผลลบที่อาจเกิดต่อตัวลูกหนี้เอง

การพิจารณาเรื่องเพดานดอกเบี้ย ต้องมองให้รอบด้าน โดยหลักการ คือ เพดานต้องไม่สูงมาก จนทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไป จนเจ้าหนี้มีรายได้ไม่คุ้มต้นทุนการทำธุรกิจ (ต้นทุนเงิน ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนบริหารจัดการ) และให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก โดยในภาวะปัจจุบัน หากจะปรับเพดานดอกเบี้ยลงอีก มีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ได้แก่

1.ผลได้จากการลดภาระหนี้เดิม ซึ่งอาจมีจำกัด เช่น กรณีภาระหนี้ต่อเดือนสำหรับยอดหนี้ 35,000 บาท การลดเพดานดอกเบี้ยร้อยละ 1 (จากเดิมร้อยละ 25) จะช่วยลดภาระได้เดือนละ 24 บาท และจะไม่ครอบคลุมสินเชื่อที่กำหนดให้ชำระคืนเป็นงวดๆ ซึ่งมีอยู่จำนวน 9.5 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของสินเชื่อรายย่อย 

2.สำหรับผู้กู้ใหม่ การปรับลดเพดานดอกเบี้ยในช่วงที่ความเสี่ยงสูง ทำให้เจ้าหนี้เข้มงวดขึ้นและอาจทำให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึง ต้องออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ เห็นได้จากตัวอย่างเมื่อปี 2563 ที่มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อ p-loan ลง พบว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-13 และร้อยละ 4-10 ตามลำดับ 

3.สำหรับผู้กู้เดิมที่จะกู้ต่อ จะมีกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกเก็บดอกเบี้ยเท่ากับเพดานในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หากลดเพดานดอกเบี้ย กลุ่มดังกล่าวอาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบแทนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกหนี้ที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือ Title loan ที่ถูกคิดอัตราเพดานดอกเบี้ยเพราะมีพฤติกรรมชำระหนี้ที่เสี่ยงสูง ปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด และกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (p-loan) ที่ถูกคิดอัตราเพดานดอกเบี้ย เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ถึงร้อยละ 41

ดังนั้น ระหว่างการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับเพดานดอกเบี้ย แนวทางที่น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระบบต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาตรการใหม่ คือ การขับเคลื่อนให้มาตรการต่างๆ ของ ธปท. สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริงและรวดเร็วทันสถานการณ์ โดยที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการในหลายมิติ ได้แก่

1.หารือกับ stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือต่างก็ได้หารืออย่างใกล้ชิด

และติดตามวิเคราะห์แนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ที่แต่ละแห่งมีให้ลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) รวมทั้งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินมีแนวทางดูแลลูกหนี้ต่อจากการพักชำระหนี้ 2 เดือนได้ทันที 

2.ในส่วนของ ธปท. ได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อเนื่องรวมถึงปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการ ได้แก่ การปรับหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน เช่น หลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ความช่วยเหลือภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องเพดานสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมน้อยหรือไม่ได้ใช้สินเชื่อเลย และปรับในเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อให้ช่วยเหลือได้ลึกขึ้น

3.ธปท. ได้หารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการเพิ่มแรงจูงใจและลดต้นทุนการทำธุรกรรม เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการตีโอนทรัพย์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ